หน้าหลัก > รายการ > กลากน้ำนมเกิดจากการแพ้นมจริงหรือไม่
กลากน้ำนมเกิดจากการแพ้นมจริงหรือไม่
กลากน้ำนมเกิดจากการแพ้นมจริงหรือไม่
17 Mar, 2023 / By salacrm01
Images/Blog/iQOlfk3W-หน้าปกลงเว็ปไซต์.png

กลากน้ำนมเกิดจากการแพ้นมจริงหรือไม่

        กลากน้ำนม (Pityriasis Alba) เป็นการอักเสบทางผิวหนังชนิดหนึ่ง มีความรุนแรงต่ำ แต่มักทำให้ผู้ป่วยมีความกังวลเกี่ยวกับความสวยงาม (Cosmetic concern) ซึ่งสาเหตุการเกิดโรคนั้น ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการแพ้น้ำนม สามารถหายได้เองแต่ใช้เวลาค่อนข้างนาน การเลือกใช้ยาและผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม จะช่วยให้รอยโรคหายได้ไวมากยิ่งขึ้น

สาเหตุการเกิดโรค

          ไม่สามารถระบุสาเหตุการเกิดโรคได้แน่ชัด ยังไม่มีรายงานการติดต่อและแพร่กระจาย รวมทั้งการติดเชื้อที่น่าจะเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่มีประวัติการเป็นโรคภูมิแพ้แต่กำเนิด (Atopy) และมักพัฒนาไปเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)

ระบาดวิทยา

          กลากน้ำนมมักพบในเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีถึง 16 ปี โดยส่วนใหญ่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดตามฤดูกาล แต่รอยโรคจะแย่ลงในฤดูหนาวเนื่องจากอากาศที่แห้ง และเห็นได้ชัดในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน เนื่องจากแสงแดด

การประเมินและวินิจฉัย

          กลากน้ำนมเป็นการอักเสบทางผิวหนังที่มีการความรุนแรงต่ำและเป็นเรื้อรัง มีการสร้างเม็ดสี
เมลานินที่ผิวหนังลดลง แม้ว่าจะไม่มีเกณฑ์วินิจฉัยที่แน่ชัด แต่หากพิจารณาจากอาการ/อาการแสดงรวมทั้งช่วงวัยของผู้ป่วย ก็สามารถวินิจฉัยกลากน้ำนมได้ค่อนข้างง่าย
          สำหรับการวินิจฉัยแยกโรคนั้น สามารถทำได้หลากหลายวิธี อาทิเช่น การทดสอบ Wood’s lamp เพื่อแยกกับโรคด่างขาว การทดสอบด้วย Potassium hydroxide (KOH) เพื่อแยกกับการติดเชื้อรา สำหรับการตรวจชิ้นเนื้อนั้น ยังไม่แนะนำให้ทำในผู้ป่วยทุกรายหากไม่มีความจำเป็น ซึ่งสามารถใช้ผลการตรวจเป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยได้ ประกอบด้วย

  • จำนวนเมลานินที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดบริเวณ Basal layer
  • ไม่มีการลดลงของ Melanocyte count   
  • จำนวนของ Active melanocyte ที่ลดลง โดยเป็น Active melanocyte ที่มีจำนวนและขนาดของ Melanosome ลดลงอย่างชัดเจน

อาการ/อาการแสดง

          อาการแสดง : ผื่นรูปร่างกลมหรือรี มักเริ่มด้วยอาการแดงเล็กน้อย จากนั้นจะกลายเป็นผื่นที่มีสีอ่อนกว่าผิวข้างเคียงอย่างเห็นได้ชัด ขอบเขตไม่ชัดเจน ในบางครั้งอาจพบผื่นลักษณะปื้นแดงหรือมีขุยร่วมด้วย จำนวนของกลากน้ำนมมีตั้งแต่ 4 ดวง จนถึง 20 ดวง ขนาดประมาณ 0.5 – 5 เซนติเมตร มักพบได้บ่อยบริเวณใบหน้า และอาจพบได้บริเวณลำคอ แขนช่วงบน รวมถึงลำตัวช่วงบน 
          อาการ : ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ อาจพบอาการคันได้บ้างเล็กน้อย        

การรักษา       

  • การใช้ยาสเตียรอยด์รูปแบบทาประเภท Low-potency เช่น 1% Hydrocortisone จะช่วยลดอาการคันและแดง นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นกระบวนการสร้างเม็ดสีผิวได้
  • การใช้สารให้ความชุ่มชื้นเช่น ปิโตรเลียมเจลหรือครีม จะช่วยลดอาการแห้งเป็นขุยได้
  • การใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดอาการผิวไหม้แดดบริเวณรอยโรค รวมทั้งยังป้องกันการเข้มขึ้นของสีผิวโดยรอบที่สามารถทำให้กลากน้ำนมนั้นเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
  • การรักษารูปแบบอื่น ๆ ที่มีการรายงานถึงประสิทธิภาพในการรักษาอยู่บ้างได้แก่ ยากลุ่ม Calcineurin inhibitors รูปแบบทา เช่น 0.1% Tacrolimus, ยากลุ่ม Vitamin D analog เช่น Calcitriol แต่ยากลุ่มนี้มักมีราคาสูง
  • สำหรับกลากน้ำนมที่มีอาการรุนแรงได้แก่ เป็นบริเวณกว้าง เป็นทั้ง 2 ซีกของร่างกายเท่า ๆ กัน พบรอยโรคบริเวณลำตัวมากกว่าใบหน้า จะใช้การรักษาประเภทฉายแสง อาทิเช่น Psoralen plus ultraviolet-A (PUVA) photochemotherapy และการรักษาประเภท Targeted phototherapy ที่ใช้เลเซอร์ที่มีความยาวคลื่น 308 nm
  • โดยทั่วไปการรักษากลากน้ำนมจะใช้เวลาค่อนข้างนาน และเป็นไปอย่างช้า ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะหายได้ภายใน 1 ปี   

เรียบเรียงโดย

ภก.ชาตินัย ไชยชมภู

เอกสารอ้างอิง  

1.Givler DN, Basit H, Givler A. Pityriasis Alba. [Updated 2022 Aug 24]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK431061/

Like
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.