หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > น้ำมันปลา VS น้ำมันตับปลา
น้ำมันปลา VS น้ำมันตับปลา
น้ำมันปลา VS น้ำมันตับปลา
29 Jul, 2021 / By salacrm01
Images/Blog/hRvllPaD-น้ำมันปลา.png

น้ำมันปลา VS น้ำมันตับปลา

     หลายครั้งที่ทุกท่านอาจจะเคยได้ยินคำโฆษณาคำเชิญชวนต่างๆ ในการเลือกใช่อาหารเสริมเพื่อดูแลสุขภาพ โดยอาหารเสริมที่เป็นที่นิยมคงหนีไม่พ้นน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลา ที่ฟังดูคล้ายกันเหลือเกิน จนกระทั่งบางคนเข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน แต่รู้หรือไม่ว่าคุณสมบัติและสรรพคุณนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง น้ำมันปลาและน้ำมันตับปลา มีข้อแตกต่างกันอย่างไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบค่ะ

       น้ำมันปลา (fish oil)

    เป็นน้ำมันที่สกัดได้จากเนื้อปลา หัว และหางของปลาทะเล ซึ่งส่วนใหญ่ เป็น    ปลาทะเลน้ำลึกในเขตหนาว ในน้ำมันปลามีส่วนประกอบที่สำคัญคือ กรดไขมันไม่อิ่มตัว  (unsaturated fatty acid) ได้แก่ Decosahexanoic acid (DHA) และ Eicosapentanoic acid (EPA) หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อของ Omega-3 ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นที่ต้องได้รับจากแหล่งอาหารภายนอก เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้เอง การสร้างสาร Eicosanoids สามารถทำได้จากการใช้    สารต้นตั้ง 2 ชนิด คือ EPA (Omega-3) และ Arachidonic acid (Omega-6)

      Eicosanoids เป็นสารในร่างกายที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปวด อักเสบ การเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด โดยสาร Eicosanoids ที่สร้างได้จากสารตั้งต้นที่ต่างกัน จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนี้

  1. Omega-3 : Anti-inflamatory ยับยั้งการวมตัวกันของเม็ดเลือดขาว มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก
  2. Omega-6 : Pro-inflamatory กระตุ้นการรวมตัวกันของเม็ดเลือดขาว ทำให้เกิดการปวด อักเสบ กระตุ้นการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด

     โดยพบว่าร่างกายจะสังเคราะห์เป็นสาร Eicosanoidsที่มีคุณสมบัติอย่างไรจะขึ้นกับปริมาณ ของสารตั้งต้นที่มีในร่างกายว่ามีปริมาณกรดไขมันชนิดใดมากกว่ากัน และสารทั้งสองชนิดจะต้องมีความสมดุลกัน ไม่ค่อนไปทางสารใดสารหนึ่งมากเกินไป หากมีปริมาณของกรดไขมัน Omega-3 และ Omega-6 ในสัดส่วนที่สมดุลกันจะทำให้ได้สาร Eicosanoids ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการรวมตัวกันของเกล็ดเลือด ลดความหนืดของเลือด ทำให้เกิดการหมุนเวียนเลือดที่สะดวกขึ้น และยังมีผลในเรื่องลดการหลั่งสารปวด สารที่ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบของร่างกาย Omega-6 ได้จากการรับประทานเนื้อสัตว์ ไขมัน และน้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเมล็ดฝ้าย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ได้รับในปริมาณที่เพียงพอแต่ในส่วนของ Omega-3 จะพบมากในปลาทะเลน้ำลึก ซึ่งประชากรส่วนมากได้รับในปริมาณที่น้อยกว่า ดังนั้นสมาคมหัวใจและหลอดเลือดของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงแนะนำให้รับประทานอาหารจำพวกปลาทะเล หรือน้ำมันปลาเพื่อเพิ่มปริมาณ Omega-3

       ประโยชน์ของน้ำมันปลา และคำแนะนำต่อการบริโภค

     ผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาในประเทศไทยส่วนมากจะมีขนาด1000 mg ประกอบไปด้วย EPA 180 มิลลิกรัม DHA 120 มิลลิกรัม โดยขนาดในการรับประทานจะเเตกต่างกันตามข้อบ่งใช้ดังนี้

1.สำหรับลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides;TG) ในผู้ป่วยที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่า 500 mg/dL สามารถรับประทานน้ำมันปลา 3,000-4,000 มิลลิกรัม/วัน

2.สำหรับลดความดันโลหิตและความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถรับประทานน้ำมันปลามากกว่าเท่ากับ 4,000 มิลลิกรัม/วัน

3.สำหรับลดปวด ลดอักเสบ ข้ออักเสบรูมาตอย สามารถรับประทานน้ำมันปลา 3000 มิลลิกรัม/วัน

      โดยวิธีการรับประทานแนะนำพร้อมกับมื้ออาหาร หรือหลังอาหารทันทีเนื่องจากอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบจะเพิ่มการดูดซึมของน้ำมันปลาและช่วยลดผลข้างเคียงในเรื่องคลื่นไส้ อาเจียนได้

       ผลข้างเคียงข้อระมัดระวังของน้ำมันปลา

1. ทำให้เลือดอออกง่ายขึ้น หรือเลือดหยุดไหลยากขึ้น เนื่องจากมีผลยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ที่ดื่มสุรามาก ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือผู้ที่รับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) หรือ วอร์ฟาริน (warfarin) เป็นต้น นอกจากนี้หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานน้ำมันปลาก่อนถึงวันผ่าตัดอย่างน้อย 14 วัน ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร ก่อนรับประทานน้ำมันปลา

2.อาจกระตุ้นให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียนได้ เนื่องจากมีกลิ่นคาวของปลาทะเล ซึ่งความรุนแรงของอาการจะขึ้นกับขนาดน้ำมันปลา วิธีแก้ไขคือรับประทานหลังอาหารทันที และเริ่มรับประทาน น้ำมันปลาในขนาดต่ำๆ ก่อน อาการคลื่นไส้ อาเจียนจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากรับประทานต่อเนื่อง

        น้ำมันตับปลา (Cod liver oil)

       เป็นน้ำมันที่สกัดได้จากตับของปลาค็อด ซึ่งเป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง จึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า cod liver oil ประกอบไปด้วย วิตามินเอ (Vitamin A) วิตามินดี (Vitamin D) และยังมีกรดไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ Decosahexanoic acid (DHA) และ Eicosapentanoic acid (EPA) เช่นเดียวกับน้ำมันปลา แต่มีปริมาณน้อยกว่ามาก ส่วนประกอบหลักคือวิตามินเอ และวิตามินดี ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน และสามารสะสมได้ในร่างกาย บทบาทหลักๆ ของวิตามินเอ คือ การมองเห็นและมีบทบาทเกี่ยวกับผิวหนัง ส่วนบทบาทของวิตามินดี จะช่วยในการรักษาสมดุลแคลเซียม ฟอสฟอรัส ที่เกี่ยวข้องกับกระดูกและฟัน

       ประโยชน์ของน้ำมันตับปลา และคำแนะนำต่อการบริโภค

1.เสริมวิตามินเอ : บทบาทของวิตามินเอคือการมองเห็นในเวลากลางคืน ในผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินเอ จะมีความสามารถในการภาพภาพกลางคืนไม่ชัดเจน เห็นภาพสลัว ซึ่งอาจจะนำไปสู่ตาบอดตอนกลางคืนได้

2.วิตามินดี : บทบาทในการรักษาสมดุลแคลเซียม ฟอสฟอรัสในร่างกาย โดยจะเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมที่ทางเดินอาหารและเพิ่มการดูดกลับแคลเซียมที่ท่อไตเพื่อให้ร่างกายมีปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสมในการสร้างกระดูกและฟัน ในผู้ที่ประสบปัญหาการขาดวิตามินดีมักจะเป็นโรคกระดูกอ่อน (Rickets หรือ Osteomalacia) ได้

3.ช่วยบรรเทาอาการปวด การอักเสบตามร่างกาย โดยเฉพาะอาการของโรคข้อต่ออักเสบ เเต่การศึกษาจะเป็นการให้น้ำมันตับปลาคู่กับการให้ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่ เตียรอยด์ ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าการได้รับยาลดอักเสบเพียงอย่างเดียว

      การรับประทานน้ำมันตับปลาควรรับประทานพร้อมมื้ออาหารหรือหลังอาหารทันทีเพื่อเพิ่มการ ดูดซึมและลดอาการข้างเคียงในเรื่องการคลื่นไส้ อาเจียน ขนาดในการรับประทานไม่ควรเกิน 30 มิลลิลิตร และควรตรวจสอบระดับของวิตามินเอ และวิตามีดีด้วย เพื่อป้องกันการบริโภควิตามินทั้ง 2 ชนิดมากเกินไป (วิตามินเอไม่ควรเกิน 1000 IU /วัน , วิตามินดีไม่ควรเกิน 5000/IU/วัน) เพื่อป้องกันการเกิดพิษจากวิตามินเอ และวิตามินดีเกิน

       ผลข้างเคียงข้อระมัดระวังของน้ำมันตับปลา

  1. การรับประทานน้ำมันตับปลาในปริมาณที่มากเกินไป อาจจะทำให้เกิดพิษจากวิตามินเอได้ เช่น มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มีผลต่อระบบประสาท ทำให้ตับถูกทำลาย หิวน้ำ ปัสสาวะบ่อย และอาจทำให้ผมร่วง ผิวแห้งได้อีกด้วย
  2. วิตามินดีสะสมมากจนเกินไปนั้นก็อาจจะมีผลเสียต่อระบบเลือด เสียสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย อาจทำให้มีอาการ ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย เบื่ออาหาร และกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจทำให้เกิดภาวะไตวายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
  3. สำหรับหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานเนื่องจากมีปริมาณของวิตามินเอสูงอาจทำให้เกิดความ ผิดปกติของเด็กทารกในครรภ์ได้
  4. ทำให้เลือดอออกง่ายขึ้น หรือเลือดหยุดไหลยากขึ้น เนื่องจากมีผลยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกรก่อนรับประทานน้ำมันตับปลา

     โดยสรุปน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลามีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน น้ำมันปลาจะมีประโยชน์ในการลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ลดความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจและหลอดเลือด และมีผลลดการสร้างสารที่ทำให้เกิดการปวด อักเสบ โรคเฉพาะโรคข้ออักเสบต่างๆ ในส่วนของน้ำมันตับปลามีประโยน์ในด้านการเสริมวิตามิน เอ วิตามินดีในผู้ที่มีภาวะพร่องวิตามิน และช่วยในการบำรุงสายตา กระดูกและฟัน โดยเฉพาะในเด็กที่กำลังมีการเจริญเติบโต แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น อาหารเสริมทั้งสองชนิดมีผลข้างเคียงที่สำคัญคือ เพิ่มความเสี่ยงในการเลือดออกได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการศึกษาข้อมูลก่อนที่จะรับประทาน และการปรึกษาแพทย์ เภสัชกรก่อนเริ่มใช้อาหารเสริม จึงเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงจากอาหารเสริมได้ค่ะ

 

จัดทำโดย

ภญ.ฐิชาดา จำปางาม

อ้างอิง

1.Dariush M. Fish oil: Physiologic effects and administration [Internet]. Waltham

(MA): UpToDate; 2021. [cited 2021 Mar 05]. Available from: http://www.uptodate.com

2.Massaro M, Scoditti E , Carluccio MA, DeCaterina R. Basic mechanisms behind the effects of 

n -3 fatty acids on cardiovascular disease. Prostaglandins, Leukotrienes and Essential Fatty Acids, 2008,79:109- 115

3.National Institutes of Health. Omega-3 Fatty Acids [Internet]. [cited 2021 Mar 05]. Available

from: https://ods.od.nih.gov/factsheets/Omega3FattyAcids-Consumer/

4.Richard S P. Complementary and alternative remedies for rheumatic disorders[Internet].

Waltham (MA): UpToDate; 2021. [cited 2021 Mar 05]. Available

from: http://www.uptodate.com

5.Omega-3 fatty acids, fish oil, alpha-linolenic acid [Online]. 2009 Aug 26 [cited 2010 Apr 26].

Available from: URL: http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/natural/patient-fishoil.html.

6.Stammers T, Sibbald B and Freeling P. Efficacy of cod liver oil as an adjunct to non-steroidal

anti-inflammatory drug treatment in the management of osteoarthritis in general practice [Internet]. 1992 [cited 2021 Marh 15] Available

from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1004637/

7.ธนิสร ปทุมานนท์. น้ำมันปลา : แหล่งที่มาของกรดไขมันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ [Internet]. 2560

[cited 2021 Mar 15] Available form : https://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php

option=article 

8.นลินี จงวิริยะพันธุ์.ประโยชน์ของน้ำมันตับปลา. วารสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ. 2556;11

9.หทัยพร ศิรินามารัตนะ, วรางตณา วารีสน้อยเจริญ.การเสริมน้ำมันปลาในการรักษาโรคที่เกิดการ 

อักเสบ.วารสารไทยไภษัชยนิพนธ์. 2548;2:179-88.

 

เพิ่มเพื่อน

 

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.