หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > ปวดฟันจากฟันผุไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ
ปวดฟันจากฟันผุไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ
ปวดฟันจากฟันผุไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ
12 Feb, 2023 / By salacrm01
Images/Blog/Qrmmuc02-ฟันน.jpg

ปวดฟันจากฟันผุไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ

ฟันผุคืออะไร? 

        ฟันผุ (Tooth decay)  คือ โรคของฟันที่เนื้อฟันถูกทำลายไป โดยมีการทำลายแร่ธาตุที่เป็น องค์ประกอบสำคัญของเนื้อเยื่อเหล่านี้ จนทำให้เกิดเป็นรูหรือโพรงที่ตัวฟัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะลุกลาม ขยายใหญ่และลึกขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด จนรบกวนชีวิตประจำวันได้

สาเหตุของฟันผุ

        ฟันผุ เกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปาก รวมตัวกับเศษอาหารและน้ำลายสะสมกันจนเป็นคราบเหนียวที่เรียกว่า คราบฟัน หรือคราบแบคทีเรีย ซึ่งจะเกาะอยู่บนผิวของฟันแบคทีเรียเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพน้ำตาลและแป้งให้เป็นกรด มีฤทธิ์ทำลายแร่ธาตุที่ผิวฟัน จนก่อให้เกิดเป็นรู โดยเริ่มจากขนาดเล็กมาก ๆ ลุกลามใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ไปทั่วบริเวณรอบ ๆ ฟัน ทำให้เกิดการติดเชื้ออักเสบบริเวณเหงือก หรือกระพุ้งแก้ม จึง เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการบวมบริเวณหน้าได้

อาการและอาการแสดง

ฟันผุอาจเกิดขึ้นกับฟันครั้งละหนึ่งซี่รือมากกว่านั้นได้ อาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • มีการพบรูหรือรอยผุที่ฟัน
  • มีอาการเสียวฟันมากขึ้น (เมื่อดื่มหรือรับประทานอาหารหวาน ร้อนจัด หรือเย็นจัด)
  • มีอาการปวดฟัน
  • มีเศษอาหารติดบริเวณซอกฟันบ่อยครั้งขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดฟันผุ

  • การบริโภคอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้งและน้ำตาล
  • การได้รับฟลูออไรด์ ไม่เพียงพอ เช่น จากน้ำดื่ม ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก 
  • อาการปากแห้ง
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาน้ำเชื่อมที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ
  • การดูแลรักษาความสะอาดช่องปากอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ

ส่วนใดของฟันที่ผุได้ง่ายที่สุด

อาการฟันผุมักเกิดใน 3 ตำแหน่งดังนี้

  • อาการฟันผุบริเวณพื้นเคลือบฟันที่ใช้ในการบดเคี้ยว เพราะคราบแบคทีเรียซึ่งมักติดอยู่ตามร่องฟัน มักพบบ่อยเนื่องจาก การละเลยการแปรงฟันในบริเวณนี้ เช่น ฟันกราม
  • อาการฟันผุระหว่างซอกฟัน เนื่องจากเป็นบริเวณที่ยากต่อการเข้าถึง ซึ่งไม่สามารถทำความสะอาดได้ด้วยการแปรงฟันเพียงอย่างเดียว
  • อาการฟันผุที่บริเวณรากฟัน เกิดขึ้นจากภาวะเหงือกร่น หรือการสูญเสียของกระดูกฟันโดยมีสาเหตุอันสืบเนื่องมาจากโรคเหงือก หรือโรคปริทันต์อักเสบ

ระยะความรุนแรงของฟันผุ

       ฟันผุระยะเริ่มต้นยังไม่ก่อให้เกิดอาการเสียวหรือเจ็บปวด แต่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิวฟัน เห็นเป็นจุด หรือฝ้าขาวขุ่นคล้ายชอล์ก ซึ่งถ้าสังเกตเห็นหรือ ตรวจพบแต่เนิ่น ๆ แล้ว จะสามารถรักษาไม่ให้เกิดเป็นรูผุได้ แต่หากรักษาไม่ได้แล้วละก็จะเกิดการทำลายของเนื้อฟันต่อไปตามลำดับ จำเป็นต้องตรวจดูภายในช่องปาก โดยฟันผุนั้น แบ่งเป็น 4 ระยะได้ดังนี้

  • ฟันผุระยะที่ 1 เริ่มเห็นเป็นรูผุที่ผิวฟันอาจมี สีเทาหรือดำ มีสีขาวขุ่นรอบ ๆ ระยะนี้ยังไม่มีอาการใด ๆ การแปรงฟันให้สะอาด และใช้ฟลูออไรด์ทาเฉพาะที่ จะช่วยการคืนกลับแร่ธาตุสู่ฟัน และช่วยยับยั้งการลุกลามของโรคฟันผุได้
  • ฟันผุระยะที่ 2 รูฟันผุลุกลามกว้าง และลึกขึ้นเข้าสู่ชั้นเนื้อฟัน ใกล้โพรงประสาทเกิดอาการเสียวฟัน โดยเฉพาะเมื่อกินอาหารหวานหรือน้ำเย็น ระยะนี้ จำเป็นต้องพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยการอุดฟัน
  • ฟันผุระยะที่ 3 รูฟันที่ผุลุกลามลึกลงไปถึงโพรงประสาทฟัน ซึ่งเป็นที่อยู่ของประสาทรับความรู้สึก มีการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟันทำให้ปวด เคี้ยวไม่ได้ ระยะนี้จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะก่อนการรักษาคลองรากฟัน เมื่อรักษาคลองรากฟันเรียบร้อยจึงจะอุดฟันได้
  • ฟันผุระยะที่ 4 การอักเสบลุกลามออกไป รอบตัวฟัน ถึงอวัยวะรอบตัวฟัน ทำให้ฟันโยก ปวด เคี้ยวไม่ได้ เกิดฝีหนองบริเวณปลายราก มีอาการบวม หรือมีฝีทะลุมาที่เหงือก ฟันโยกเนื่องจากมีการทำลายกระดูกรอบ ๆ รากฟัน เชื้อโรคลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด และระบบน้ำเหลืองของร่างกาย การรักษาด้วยวิธีรักษารากฟันอาจไม่ได้ผลหากมีการลุกลามของเชื้อโรคเป็นบริเวณกว้างและรุนแรง อาจจำเป็นต้องถอน และหลังการถอนฟัน ควรต้องใส่ฟันเทียมทดแทนเพื่อความสวยงาม เพื่อการบดเคี้ยว และเพื่อป้องกันฟันข้างเคียงไม่ให้ล้มเอียงด้วย


วิธีป้องกันฟันผุด้วยตัวเอง

       จากที่เราได้รู้ไปแล้วว่าระดับความรุนแรงของอาการต่าง ๆ ของการเกิดอาการฟันผุนั้นมีอะไรบ้าง ถัดมาคือการป้องกันฟันผุที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเอง

  • แปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้ง/วัน การแปรงฟันอย่างถูกวิธีเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เป็นการดูแลรักษาฟันที่ดีที่สุด โดยจะมี 5 จุดหลัก ๆ ที่ต้องให้ความสำคัญคือ ฟันด้านนอก ฟันด้านใน ฟันด้านบดเคี้ยว ฟันหน้าด้านใน และ โคนลิ้น โดยควรทำความสะอาดด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ซึ่งสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุแล้ว ยังสามารถหยุดการลุกลามของฟันผุได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ อีกด้วย
  • หลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล อาหารทั้งสองประเภทนี้ถือเป็นอาหารอย่างดีของแบคทีเรียและเชื้อจุลินทรีย์ในปากเรา เมื่อเราทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงเข้าไป คราบที่แบคทีเรียสร้างไว้และเกาะตามซอกฟันของเราอยู่จะเปลี่ยนน้ำตาลให้กลายสภาพเป็นกรด ซึ่งจะทำลายผิวฟันไปเรื่อย ๆ โดยเราสามารถลดปริมาณเศษอาหารสะสมเหล่านี้ได้ด้วยการใช้ไหมขัดฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
  • พบทันตแพทย์เป็นประจำ อย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน แม้ว่าคุณจะทำการรักษาฟันเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม แต่การพบทันตแพทย์เป็นประจำก็เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง เพื่อตรวจสุขภาพของฟัน และการดูแลอย่างละเอียด รวมถึงปรึกษาว่าการกระทำหรือพฤติกรรมของเรา เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพในช่องปากหรือไม่ และเพื่อสามารถทำการรักษาอาการต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที
  • หากเกิดอาการฟันผุ ควรรีบพบทันตแพทย์ทันที เพื่อทำการรักษาตามระยะต่าง ๆ ของโรค อย่างเช่น การอุดฟัน การครอบฟัน การรักษารากฟัน และ การถอนฟันตามลำดับ เพราะหากคุณปล่อยไว้ จะมีอาการต่าง ๆ ตามมาไม่ว่าจะเป็นอาการเสียวฟัน ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การใช้ชีวิตประจำวันของคุณเป็นอย่างมาก หรือหนักขึ้นก็เกิดอาการปวดฟัน ที่บางครั้งไม่สามารถเป็นอันทำอะไร นอกจากนี้แล้ว ยังส่งผลต่อบุคลิกภาพ ในด้านช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นปาก หรือลักษณะของฟันที่ผิดรูป แตกหักผิดปกติ และยังสามารถลุกลามไปเป็นโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย

 

อ้างอิง

1.บริษัท แอลดีซี เด็นทัล จำกัด (มหาชน).โรคฟันผุ ปัญหาเล็ก ๆ ที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่. [อินเทอร์เน็ต]. เข้าถึงได้จาก : https://www.ldcdental.com/2016/05/11/caries/#:~:text=โรคฟันผุเกิดจาก,ๆ%20จนกลายเป็นโรค  [เข้าถึงเมื่อ 22 ธ.ค. 2565]

2.พัณนิตตา ยอดดำเนิน. โรคฟันผุเกิดจากอะไร ? ปัญหาสุขภาพช่องปากที่ไม่ควรมองข้าม [อินเทอร์เน็ต]. เข้าถึงได้จาก : https://www.thonglordentalhospital.com/dental-caries/. [เข้าถึงเมื่อ 22 ธ.ค. 2565]

3.กองทันตสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร. แนวทางเวชปฏิบัติทางทันตกรรม. [อินเทอร์เน็ต]. เข้าถึงได้จาก : https://skko.moph.go.th/dward/document_file/dental/common_form_upload_file/20140507152121_1054128126.pdf/. [เข้าถึงเมื่อ 20 ธ.ค. 2565]

4.คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. รู้จักฟลูออไรด์ป้องกันผุ.  [อินเทอร์เน็ต]. เข้าถึงได้จาก : https://www.rama.mahidol.ac.th/patient_care/th/health_issue/17102015-2029-th

 

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.