หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย
01 Feb, 2023 / By salacrm01
Images/Blog/1nBbVgNB-วิธี.jpg

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย

        เมื่อถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน แมลงที่มีเหล็กใน จะก่อให้เกิดอันตรายหากไม่รีบรักษา หรือมีการต่อย 30 - 40 แผล เนื่องจากภายในเหล็กจะมีพิษที่มีฤทธิ์เป็นกรด เมื่อถูกกัดต่อยแล้วมักจะทิ้งเหล็กในไว้บริเวณที่ถูกต่อยจะมีอาการปวด บวมแดง คัน อาการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบริเวณที่ต่อยและสภาพร่างกายของแต่ ละบุคคล ซึ่งสามารถใช้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ เพื่อช่วยลดปริมาณพิษให้น้อยลง

จะรู้ได้อย่างไรว่าถูกผึ้ง ต่อ หรือแตนต่อย

        สามารถสังเกตได้จากบาดแผล โดยเมื่อถูกผึ้งต่อยจะสามารถเห็นเหล็กในบริเวณที่โดนต่อยได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าหากต่อ หรือแตนจะไม่มีการทิ้งเหล็กในไว้ แต่จะเห็นเป็นรอยแดงเหมือนถูกของแหลมทิ่

                               

                                           ผึ้งต่อย                                  ต่อต่อย  

วิธีการปฐมพยาบาล

1. ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกต่อย ด้วยสบู่ แล้วล้างน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือตาม เนื่องจากพิษมีความเป็นกรด จึงใช้น้ำสบู่ซึ่งมีความเป็นด่างล้าง

2. หากมีเหล็กในให้ดึงออกทันทีเพื่อลดปริมาณพิษเข้าสู่ร่างกาย และลดโอกาสการติดเชื้อ อาจจะใช้เล็บมือ, บัตรที่มีลักษณะแข็งค่อย ๆ ขูดเอาเหล็กในออกมา หรืออาจจะใช้ลูกกุญแจชนิดที่มีรูตรงปลายกดลงที่ตรงแผลนั้นจะทำให้เหล็กในจะโผล่ออกมา

3. จากนั้นให้ทำการประคบเย็นบริเวณที่ถูกต่อย 10 นาที เพื่อลดอาการปวด และบวม

4. หลีกเลี่ยงการแกะ เกาบริเวณที่ถูกกัดต่อย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

5. รับประทานยาหรือทายาแก้แพ้ และทายากลุ่มเสตียรอยด์ เพื่อลดอาการคัน ปวดแสบร้อน

6.  ถ้ามีอาการปวดมาก สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลได้ ในกรณีที่แมลงสัตว์กัดต่อยแล้วมีอาการแพ้ ปวดแสบปวดร้อน บวมแดง อักเสบ ไม่ควรทายาหม่องลดปวด เพราะอาจกระตุ้นให้อาการแพ้รุนแรงได้

7. หากอาการแย่ลง ให้ไปพบแพทย์

8. หากมีอาการแพ้รุนแรง เช่น หน้าบวม หายใจลำบาก แน่นหน้าอก เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ช็อค หมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือเรียกรถพยาบาลโทร. 1669 โดยวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นระหว่างนำส่งโรงพยาบาล เมื่อผู้บาดเจ็บหายใจติดขัด หรือหายใจมีเสียงหวีด ให้ผู้ช่วยเหลือจับผู้ป่วยนอนตะแคง เพื่อช่วยเปิดทางเดินหายใจ หากสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการหน้าซีด เหงื่อออก ตัวเย็นให้ผู้บาดเจ็บนอนให้หัวต่ำ เพื่อให้เลือดลงไปเลี้ยงสมอง

วิธีป้องกันไม่ให้ถูกต่อย

1.อยู่ให้ห่างจาก ผึ้ง ต่อ แตน

2.หากเจอผึ้ง ต่อ หรือแตน ในระยะประชิด พยายามอยู่นิ่งให้มากที่สุด แล้วหาผ้าคลุมใบหน้าไว้ ค่อย ๆ เดินออกมาอย่างช้า ๆ และไม่ควรพยายามตีผึ้ง ต่อ แตน หรือปัดไล่ เพราะจะเสี่ยงโดนต่อยกลับ

3.เมื่อผึ้ง ต่อ แตน ต่อยจะมีการปล่อยสารเคมีดึงดูดผึ้ง ต่อ แตน ตัวอื่นเข้ามาด้วย ดังนั้น หากถูกต่อยแล้ว พบว่าในบริเวณนั้นมีอยู่หลายตัว ให้ปิดปากและจมูกไว้ แล้วรีบหลบไปอยู่ในพื้นที่มิดชิด เพื่อไม่ให้ถูกรุมต่อย

เรียบเรียงโดย

ภญ.เฉลิมขวัญ แสงศรีมณีวงศ์

อ้างอิง

1.นวนจันทร์ อภิวัฒนเสวี. วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อสัตว์มีพิษกัดต่อย [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล; 2565 [เข้าถึงเมื่อ 11 ม.ค. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/poisonous-animal

 
Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.