หน้าหลัก > เรื่องของยา > ทำความรู้จักกับวิตามินที่พบได้บ่อยในอาหารเสริม
ทำความรู้จักกับวิตามินที่พบได้บ่อยในอาหารเสริม
ทำความรู้จักกับวิตามินที่พบได้บ่อยในอาหารเสริม
28 Feb, 2023 / By salacrm01
Images/Blog/PSiMCaIQ-02.png

                                             ทำความรู้จักกับวิตามินที่พบได้บ่อยในอาหารเสริม

วิตามิน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

     1.กลุ่มที่ละลายในน้ำ ได้แก่ วิตามิน B1, B2, B3, B5, B6, B7, B9, B12 และวิตามิน C จะอยู่ในร่างกาย 2 – 4 ชั่วโมง ส่วนที่เหลือจากการใช้งานจะถูกขับออกทางไตมากับปัสสาวะ โอกาสที่จะสะสมในร่างกายจึงมีน้อยไม่ค่อยมีผลข้างเคียง

     2.วิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามิน A,D,E,K จะละลายในไขมันหรือน้ำมันเท่านั้นเพื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ไม่สามารถขับออกมาทางปัสสาวะได้ หากได้รับมากจนเกินไปจะเก็บสะสมไว้ในร่างกายได้ จึงควรรับประทานให้พอดี ตัวอย่างของผลข้างเคียงที่เกิดจากการสะสมหรือการรับประทานเกินขนาด เช่น การได้รับวิตามิน A
เกินขนาดอาจจะส่งผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เนื่องจากตับไม่สามารถกำจัดได้ทัน อาจจะส่งผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น ผิวหนัง อาจเกิดผื่นแดงร้อนผิวหนังลอกเป็นแผ่น ขน/ผม หลุดร่วง การได้รับวิตามิน D เกินขนาดอาจจะทำให้เกิดภาวะเบื่ออาหาร ปวดศีรษะ เจ็บปวดตามข้อ ปัสสาวะมาก แคลเซียมในเลือดสูง แคลเซียมเกาะตามอวัยวะต่าง ๆ

ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน สำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป (Thai recommend daily intake :RDI)

       วิตามิน B1 (Thiamine)                        :   1.5  mg 

       วิตามิน B2 (Riboflavin)                       :   1.7  mg

       วิตามิน B3 (Niacin)                             :   20  mg

       วิตามิน B5 (Pantothenic acid)            :    6    mg

       วิตามิน B6 (Pyridoxine)                      :    2    mg

       วิตามิน B7 (Biotin)                              :  150  µg

       วิตามิน B9 (Folic acid)                        :  200  µg

       วิตามิน B12 (Cyanocobalamine)         :    2    µg

       วิตามิน A                                             :  800  µg-RE2

       วิตามิน C                                             :   60   mg

       วิตามิน D                                             :    5    µg

       วิตามิน E                                             :   10   mgα-T E3

       วิตามิน K                                             :   80   µg

*1 mgNE     : NE = Niacin equivalent
                      1 NE = 1 mg niacin = 60 mg tryptophan
 2 µg-RE     : RE = Retinol equivalent
                      1 RE = 1 μ
g retinol = 6 μg β-carotene = 3.33 IU
 3 mg
α-TE : α-TE = α-Tocopherol equivalent
                     1
α-TE = 1 mg D-α-tocopherol = 1.5 IU

วิตามิน B1  : ประโยชน์ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา โดยถ้าหากร่างกายได้รับวิตามิน B1 ไม่เพียงพอต่อความต้องการจะทำให้เกิดโรคเหน็บชา ผลข้างเคียงจากการได้รับวิตามิน B1 มากเกินไปยังไม่พบ แต่การได้รับวิตามิน B1 ปริมาณที่มากร่างกายจะไม่ถูกดูดซึมแต่ถูกขับออกมาในปัสสาวะเกือบหมดภายใน 4 ชั่วโมง

วิตามิน B2   : ประโยชน์เกี่ยวข้องกับการสร้างพลังงานและสังเคราะห์ไนอาซินจากกรดอะมิโนทริปโตเฟน ช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมันและโปรตีน ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตและพัฒนาอย่างเหมาะสม ช่วยป้องกันเซลล์ถูกทำลายช่วย โดยถ้าหากร่างกายได้รับวิตามิน B2 ไม่เพียงพออาจจะทำให้เกิดโรคปากนกกระจอก ปกติร่างกายจะดูดซึมวิตามิน B2 ได้ไม่เกินวันละ 25 มิลลิกรัม ยังไม่มีรายงานว่ามีผลข้างเคียงเมื่อได้รับวิตามินบี 2 ในขนาดที่มากเกินความต้องการของร่างกาย

วิตามิน B3   : ประโยชน์ช่วยลดคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ช่วยการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยให้ผิวพรรณสุขภาพดีขึ้น หากร่างกายได้รับวิตามิน B3 ไม่เพียงพออาจทำให้เกิดโรคเพลลากรา ในระยะเริ่มแรกจะมีอาการ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง สุขภาพทั่วไปไม่แข็งแรง มีการอักเสบที่ปากและลิ้นเมื่อได้รับวิตามิน B3 มากเกินไปอาจพบอาการข้างเคียงคือ คลื่นไส้ อาเจียน และภาวะตับเป็นพิษได้

วิตามิน B5   :  ประโยชน์เป็นสารต้นกำเนิดของการสังเคราะห์โคเอนไซม์เอ และเอซิลแครีเออร์โปรตีน ช่วยในการสังเคราะห์สารต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ฟอสโฟไลปิด เพื่อนำไปสร้างผนังเซลล์ คอเลสเตอรอล น้ำดี ฮอร์โมน สังเคราะห์เส้นใยประสาท ลดระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ หากร่างกายได้รับวิตามิน B5 ไม่เพียงพอทำให้มีอาการทางระบบประสาท จึงเป็นสาเหตุของกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการชาปลายประสาท ไม่มีแรง ระบบภูมิคุ้มกันลดลง มีผื่นที่ผิวหนัง เมื่อได้รับวิตามิน B5 มากเกินไป อาจพบอาการท้องเสียอย่างรุนแรง และอาการทางประสาทได้

วิตามิน B6   :  ประโยชน์ช่วยป้องกันโลหิตจาง เสริมความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมการดูดซึมวิตามิน B12
หากร่างกายได้รับวิตามิน B6 ไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดโรคโลหิตจางแบบ microcytic ได้

วิตามิน B7   : ประโยชน์บรรเทาอาการผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ เพิ่มความแข็งแรงของเส้นผม ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน หากร่างกายได้รับวิตามิน B7 อาจจะมีอาการเหนื่อยอ่อนและอาจมีอาการของการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร การเจริญเติบโตลดลง

วิตามิน B9   : ประโยชน์เป็นสารจำเป็น สำหรับการสร้างเม็ดเลือดแดง กระดูกและผม หากร่างกายได้รับวิตามิน B9 ไม่เพียงพอทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงผิดปกติและเกิดภาวะโลหิตจางชนิดที่เรียกว่า Megaloblastic anemia เมื่อได้รับวิตามิน B9 เกินจะผลข้างเคียงโดยที่กรดโฟลิกอาจตกตะกอน และบดบังอาการขาดวิตามินบี 12 หรือทำให้ระบบประสาทส่วนที่เสียหายจากการขาดวิตามินบี 12 เกิดอาการกำเริบ

วิตามิน B12 : ประโยชน์ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยในไขกระดูกวิตามินบี 12 จะทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ของเอนไซม์ช่วยเร่งปฏิกิริยาการสังเคราะห์สารพันธุกรรม แต่ถ้ามีการขาดวิตามินบี 12 ไขกระดูกจะไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงให้เจริญเต็มที่ได้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในเรื่องภาวะเป็นพิษของวิตามินบี 12

วิตามิน  A    : ประโยชน์ช่วยในการมองเห็นในที่แสงน้อย ลดจุดด่างดำที่ผิวหนัง เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน หากร่างกายได้รับวิตามิน A ไม่เพียงพอ ทำให้ภูมิต้านทานต่ำลง จึงเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ง่าย หรือเป็นหวัดง่าย เช่น การได้รับวิตามิน A เกินขนาดอาจจะส่งผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกายเนื่องจาก ตับไม่สามารถกำจัดได้ทัน อาจจะส่งผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ผิวหนัง อาจเกิดผื่นแดงร้อนผิวหนังลอกเป็นแผ่น ขน/ผม หลุดร่วง

วิตามิน  C    : บทบาทต่อภูมิต้านทาน โดยวิตามินซีช่วยการทำงานของเม็ดเลือดขาว lymphocyte และเป็นสารที่จำเป็นต่อการสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน กระดูก ฟัน ต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก หากร่างกายได้รับวิตามิน C  ไม่เพียงพออาจทำให้เป็นโรคลักปิดลักเปิด การได้รับวิตามิน C มากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย แต่ส่วนใหญ่จะถูกขับออกทางปัสสาวะ

วิตามิน  D    : ประโยชน์จำเป็นต่อการสร้างกระดูกและสมดุลของเกลือแร่ หากร่างกายได้รับวิตามิน D ไม่เพียงพอ อาจจะนำไปสู่ภาวะ Osteomalacia ในผู้ใหญ่ และ rickets ในเด็ก ทั้งยังส่งผลทำให้โรคกระดูกพรุนแย่ลง ภาวะวิตามินดีเป็นพิษ เกิดจากระดับ แคลเซียมในเลือดสูง อาการทั่วไป อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อาการของระบบประสาทสับสน ขาดสมาธิ ซึม ความรู้สึกตัวลดลง อาการของระบบกระดูกกระดูกเปราะ ความหนาแน่นของกระดูกต่ำเพราะมีการสลายกระดูกเพิ่มขึ้น กรณีที่ได้รับวิตามิน D เกินขนาดเป็นเวลานาน สามารถทำให้เกิดภาวะแคลเซียมเกิน (Hypercalcemia) ซึ่งมีผลต่อการทำงานของไต และหัวใจ

วิตามิน  E    : ประโยชน์มีส่วนช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) มีบทบาทในกระบวนการต้านการอักเสบ กรณีที่ได้รับวิตามิน E เกินขนาด อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกได้  

วิตามิน  K    : ประโยชน์เกี่ยวข้องกับกระบวนการแข็งตัวของเลือด (ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยา warfarin) ไม่มีข้อมูลที่จัดเจนเกี่ยวกับการได้รับวิตามิน K เกินขนาด แต่ทั้งนี้ควรได้รับวิตามิน K ในขนาดที่เหมาะสม

ดังนั้น หากผู้รับบริการต้องการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเลือกใช้เสมอ เพื่อให้สามารถรับประทานวิตามินได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย

เรียบเรียงโดย

ภญ.ชญานี ชัยชิต

อ้างอิง 

1.มินเดลล์ เอิร์ล, วิตามินไบเบิล, แปลโดย ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล, พิมพ์ครั้งที่ 16, กรุงเทพฯ : อมรินทร์สุขภาพ.

2.สารอาหารที่แนะนําให้บริโภคประจําวันสําหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป. [อินเตอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 26 ส.ค. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://www.thaidietetics.org/wp-content/uploads/2020/04/dri2563.pdf

3.ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน สำหรับคนไทย พ.ศ.2563. (THAI RECOMMENDED DAILY INTAKES-THAI RDI). [อินเตอร์เน็ต]. 2541 [เข้าถึงเมื่อ 26 ส.ค. 2565]. เข้าถึงได้จาก: http://food.fda.moph.go.th/Rules/dataRules/4-4-2ThaiRDI.pdf

4.Imbrescia, K., & Moszczynski, Z. (2022). Vitamin K. In StatPearls [Internet]. StatPearls Publishing. 2022 [cited  19 January 2022]. Avialiable from:   https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK551578/?fbclid=IwAR3wwEGqmquexU7uTid3F--Xj_axLNMZph36FjKSiJDr9tOkK28DDqNJXJ4

5.Office of dietary supplement - Vitamin E [Internert]. Ods.od.nih.gov. 2022 [cited 26 June 2022]. Aviailable from: https://ods.od.nih.gov/factsheet/VitaminE-HealthProfessional/2.

6.Office of dietary supplement - Vitamin B12 [Internert]. Ods.od.nih.gov. 2022 [cited 26 June 2022]. Aviailable from: https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminB12-HealthProfessional/#h7

7.Owen, K. N., & Dewald, O. Vitamin E toxicity [Internet]. StatPearls Publishing. 2022 [cited  19 January 2022]. Avialiable from:  https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK564373/?fbclid=IwAR30giD0W0OWty_b2yJGEcSwXtoFGcTyfGCRf7ngC2TpyYqDSap52-Vx3pw

8.Vitamin D. 2022 [cited  19 January 2022]. Avialiable from:  https://www.nhs.uk/conditions/vitamins-and-minerals/vitamin-d/

 

Like
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.