หน้าหลัก > เรื่องของยา > 8 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับยา “พาราเซตามอล” 💊
8 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับยา “พาราเซตามอล” 💊
8 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับยา “พาราเซตามอล” 💊
28 Jul, 2021 / By salacrm01
Images/Blog/XSq0OXfG-8เรื่องน่ารู้.png

8 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับยา “พาราเซตามอล”

       1.Tylenol, Sara, Cemol, Bakamol, Paracap และอีกหลาย ๆ ชื่อ ทั้งหมดนี้เป็นชื่อการค้าของตัวยา Paracetamol 500 mg ทั้งสิ้น ดังนั้น ระวังเข้าใจผิดเผลอไปกินยาพาราเซตามอลซ้ำซ้อนกัน วิธีสังเกต: พลิกดูด้านหลังแผงหรือข้างกล่อง นอกจากชื่อการค้าแล้ว จะมีข้อความ “ยานี้มีพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม หรือ Paracatamol 500 mg”

       2.ยาแก้หวัด Tiffy, Decolgen และยาคลายกล้ามเนื้อ Norgesic มีตัวยาพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบในตำรับ ดังนั้น หากได้รับยาเหล่านี้มากิน ไม่ต้องไปหาซื้อยาพาราเซตามอลมากินเพิ่ม เพราะจะทำให้ได้รับพาราเซตามอลมากเกินไป ส่งผลเสียต่อร่างกาย

       3.ตัวยาพาราเซตามอลไม่มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหารอยู่แล้ว ดังนั้นจะเป็นพาราเซตมอลยี่ห้อไหนก็ตาม ก็ไม่กัดกระเพาะหรือทำให้เกิดอาการแสบท้อง และจะกินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

       4.ยาพาราเซตามอลจะสีไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นขาวฟ้า ขาวล้วน เหลือง หรือเม็ดกลม รี สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม การออกฤทธิ์ไม่มีความแตกต่างกันในทางทฤษฎี เพราะยาที่ถูกผลิตออกมาจำหน่ายได้ ย่อมต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐานมาแล้ว ดังนั้นหากกินเข้าไปแล้วรู้สึกว่าสีนี้หายปวดดีกว่า เม็ดหน้าตาแบบนี้กินแล้วดีกว่า เป็นผลทางจิตใจล้วน ๆ

       5.วิธีการกินยาพาราเซตามอลที่ถูกต้องและปลอดภัยที่สุด คือกินตามน้ำหนักตัว 10 – 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สรุปให้ง่าย ๆ คือ น้ำหนักตัว 34-50 กิโลกรัม กิน 1 เม็ด, 50-75 กิโลกรัม กิน 1 เม็ดครึ่ง, 75 กิโลกรัมขึ้นไป กิน 2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง

       6.คนที่ควรระวังการใช้ยาพาราเซตามอล ได้แก่ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ผู้มีภาวะการทำงานของตับผิดปกติ ผู้ที่แพ้พาราเซตามอล ผู้ป่วยโรค G6PD ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาที่มีพิษต่อตับ เช่น ยาฆ่าเชื้อราแบบรับประทาน

       7.ไม่ควรกินยาพาราเซตามอลดักไว้ก่อนทั้งที่ยังไม่มีอาการ เช่น กินยาดักไว้ก่อนเพื่อป้องกันอาการไข้ ทั้งที่ยังไม่มีไข้ ถือเป็นการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผล และไม่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา แต่อาจะเกิดผลข้างเคียงโดยไม่จำเป็นแทน

       8.การเก็บรักษายาพาราเซตามอลควรเก็บให้พ้นแสง เพราะตัวยาไม่ทนต่อแสงแดด นอกจากนี้ควรเก็บในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ไม่เก็บยาในที่ชื้นและที่ร้อนกว่า 30 องศาเซลเซียส

จัดทำโดย

ภก.พิตรพิบูล ศรีสันติสุข (ภก.โบ๊ท)

อ้างอิง

1.ภญ.นันทพร เล็กพิทยา. พาราเซตามอล กินมากไปเสี่ยงทำลายตับ[Internet].2561[cited 2020 Oct 11]. เข้าถึงได้จาก: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%A5-%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5/

 

เพิ่มเพื่อน

Like
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.