หน้าหลัก > สาระเรื่องยา > กินยาอย่างไร...ให้ถูกวิธี
กินยาอย่างไร...ให้ถูกวิธี
กินยาอย่างไร...ให้ถูกวิธี
23 Jul, 2021 / By salacrm01
Images/Blog/zzSzUWUS-กินยา.png

กินยาอย่างไร...ให้ถูกวิธี

    ยาสำหรับรักษาโรคมีหลายรูปแบบในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นยาฉีด ยาพ่นสูด ยาหยอด ยาในรูปแบบรับประทานและอีกมากมายหลายชนิด ซึ่งยาในรูปแบบรับประทานเป็นรูปแบบยาอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากที่สุดในการใช้สำหรับรักษาโรค หลายๆท่านอาจจะเคยได้ยินว่ายานี้ให้รับประทานหลังอาหาร ยานี้ให้รับประทานก่อนอาหาร ยานี้ให้รับประทานก่อนนอน ซึ่งการรับประทานยาอย่างไม่ถูกต้องในบางครั้งอาจจะส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาและประสิทธิภาพในการรักษาโรคของยานั้นๆ ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาด้วยยาอย่างสูงสุด บทความนี้จะช่วยไขข้อข้องใจและช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจในวิธีการประทานยามากขึ้น

       1. ยาที่ต้องรับประทานหลังอาหาร

   1.1 ยาหลังอาหาร หมายถึง ให้รับประทานหลังอาหารประมาณ 15 – 30 นาที โดยยากลุ่มนี้เป็นยาทั่วไปที่อาหารไม่ได้มีผลต่อการดูดซึมและยาไม่ได้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร แต่ให้รับประทานยาหลังอาหารเนื่องจากเพื่อหวังผลป้องกันการลืมรับประทานยา เช่น ยาอะม็อกซีซิลิน (Amoxicillin), ยาลอราทาดีน (Loratadine)

   1.2 ยาหลังอาหารทันทีหรือยาพร้อมอาหาร โดยยาหลังอาหารทันทีให้รับประทานยาหลังอาหารทันที และยาพร้อมอาหารให้รับประทานยาพร้อมอาหารคำแรกหรือรับประทานยาหลังจากรับประทานอาหารไปแล้วครึ่งหนึ่ง สามารถแบ่งได้ 2 กรณี

      1.2.1 ยามีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร โดยยาบางชนิดมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน จึงมีผลระคายเคืองเยื่อบุทางเดินอาหารโดยตรง เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin),  หรือยาบางชนิดมีผลลดการสร้างชั้นเมือก (Mucous) ของกระเพาะอาหาร ซึ่งปกติชั้นเมือกในกระเพาะอาหารจะช่วยปกป้องเซลล์กระเพาะอาหารไม่ให้ถูกทำลายจากกรดในกระเพาะอาหารที่หลั่งมาเพื่อย่อยอาหาร เช่น ยาในกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs, NSAIDs) ซึ่งตัวอย่างยาได้แก่ ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen), ยาไพร็อกซิแคม (Piroxicam)

      1.2.2 ยาถูกดูดซึมได้ดีเมื่อมีอาหารในกระเพาะอาหาร โดยยาบางชนิดจะดูดซึมได้ดีในสภาวะกรด เนื่องจากหลังรับประทานอาหารในกระเพาะอาหารจะมีการหลั่งกรดออกมาปริมาณมากเพื่อย่อยอาหารจึงทำให้ในกระเพาะอาหารมีสภาวะเป็นกรด หรือยาบางชนิดจะดูดซึมได้ดีเมื่อมีไขมัน จึงควรประทานยาหลังอาหารทันที เพื่อช่วยให้ยาดูดซึมได้ดีขึ้น เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole), ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole)

       2. ยาที่ต้องรับประทานก่อนอาหาร ให้รับประทานยาก่อนอาหารอย่างน้อย 30 - 60 นาที โดยสามารถแบ่งได้ 3 กรณี

     2.1 ยาที่อาหารมีผลรบกวนการดูดซึมของยา อาจทำให้ยาดูดซึมได้น้อยลงหรือดูดซึมไม่ได้เลย หรือเป็นกรณีที่ยาไม่ทนต่อสภาวะกรดในกระเพาะ เนื่องจากการรับประทานอาหารจะทำให้กรดในกระเพาะอาหารหลั่งออกมา ดังนั้น ควรรับประทานยาก่อนอาหารอย่างน้อย 30 - 60 นาที ในกรณีที่ลืมรับประทานยาให้รับประทานยาหลังอาหาร 2 ชั่วโมงแทน เนื่องจากจะเป็นช่วงเวลาที่ท้องว่างและยาจะดูดซึมได้ดี เช่น ยาไดคล็อกซาซิลิน (Dicloxacillin), ยาคล็อกซาซิลิน (Cloxacillin), ยาโอมีปราโซล (Omeprazole) เป็นต้น

     2.2 ยาที่หวังผลลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ยากลุ่มนี้อาหารหรือสภาวะกรดในกระเพาะไม่ได้มีผลต่อการดูดซึมหรือความคงตัวของยา แต่เนื่องจากยาในกลุ่มนี้จะช่วยในการเพิ่มการบีบตัวของทางเดินอาหาร จึงควรรับประทานยานี้ก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที เพื่อช่วยลดอาหารคลื่นไส้อาเจียนหลังรับประทานอาหาร โดยถ้าหากลืมรับประทานยาก่อนอาหารก็สามารถรับประทานยาหลังอาหารแทนได้ เช่น ยาดอมเปอริโดน (Domperidone), ยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide)

    2.3 ยาที่หวังผลลดระดับน้ำตาลในเลือด ยากลุ่มนี้อาหารหรือสภาวะกรดในกระเพาะไม่ได้มีผลต่อการดูดซึมหรือความคงตัวของยา แต่เนื่องจากยาจะมีผลช่วยลดระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นในเลือดหลังรับประทานอาหาร จึงควรรับประทานยาก่อนรับประทานอาหารประมาณ 30 นาที เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ทันท่วงที โดยถ้าหากลืมรับประทานก่อนอาหาร ให้ข้ามยา ณ มื้อนั้น ๆ ไป โดยรอรับประทานยาในเวลาถัดไปแทน ได้แก่ ยาเบาหวานบางชนิด เช่น ยาไกลพิไซด์ (Glipizide), ยาไกลคลาไซด์ (Gliclazide)

       3. ยาที่ต้องรับประทานก่อนนอน หมายถึง ให้รับประทานยาก่อนนอนประมาณ 15 – 30 นาที โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณี

     3.1 ยาคลายกังวล ช่วยให้นอนหลับ ตามวัตถุประสงค์ของยาที่หวังผลช่วยในการนอนหลับ ดังนั้นจึงควรรับประทานยาก่อนเข้านอน เช่น ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline), ยาลอราซีแพม (Lorazepam), ยาทราโซโดน (Trazodone)

     3.2 ยาบรรเทาอาการแพ้และมีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม จึงควรรับประทานยาก่อนนอนเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากกิจกรรมที่เสี่ยงต่ออันตรายไม่ว่าจะเป็นการขับรถ หรือการทำงานกับเครื่องจักร เช่น ยาไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine), ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) แต่ถ้าหากไม่ต้องขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร ก็สมารถรับประทานยาในเวลากลางวันได้เช่นเดียวกัน

     3.3 ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (Statins) ให้รับประทานก่อนนอนเพื่อหวังผลให้ยาออกฤทธิ์ได้ดี ได้แก่ ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (Statins) เช่น ยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) เนื่องจากการสร้างไขมันในร่างกาย จะสร้างในช่วงเวลากลางคืน จึงให้รับประทานยาก่อนเข้านอนประมาณ 15 – 30 นาที เพื่อมุ่งหวังให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีนั่นเอง

 

จัดทำโดย

ภญ.ธนัชพร พรมโคตร

อ้างอิง

1. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. วิธีรับประทานยา. 2558 [cited 9 Feb 2021]. Available from: https://med.mahidol.ac.th/ramapharmacy/th/howtotakemedicines.

2. ธเนศ ชิตาพนารักษ์. การป้องกันโรคแผลในกระเพาะอาหารจากการใช้ยา NSAIDs. 2560 [cited 9 Feb 2021]. Available from: https://www.takeda.com/siteassets/media/th-th/gi/e-publication/pdf/pdf-ct-8.pdf.

 

เพิ่มเพื่อน

Like
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.