หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > เชื้อราในช่องปาก
เชื้อราในช่องปาก
เชื้อราในช่องปาก
25 Dec, 2023 / By salacrm01
Images/Blog/iBIgWiSk-1..jpg

เชื้อราในปาก (Oral Thrush)

    มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อราแคนดิดา (Candida) ซึ่งโดยตามปกติในช่องปาก ทางเดินอาหาร และผิวหนังของคนเราจะมีเชื้อราแคนดิดาอยู่เป็นปกติ แต่เมื่อระบบภูมิคุ้มกันมีการเสียสมดุลจึงทำให้มีเชื้อราสะสมในช่องปากจนเห็นเป็นฝ้าสีขาวข้นที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม และเพดานปากซึ่งเป็นผลมาจากอาการเจ็บป่วย ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือการใช้ยาบางชนิดที่ไปกระตุ้นให้เชื้อรา โรคบางอย่าง ความเครียด ก็จะทำให้เชื้อราชนิดนี้เพิ่มจำนวนได้มากกว่าปกติ

ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเชื้อราในช่องปาก

  • ผู้ที่ใช้ยาบางชนิดติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน ยาเคมีบำบัด หรือยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ๆ
  • ทารกและเด็กเล็ก เพราะภูมิคุ้มกันยังสร้างได้ไม่เต็มที่
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ  เช่น โรคมะเร็ง การติดเชื้อ HIV โรคเอดส์ โรคเบาหวาน ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันจนทำให้เชื้อราเจริญเติบโตขึ้น
  • ทารกแรกเกิดที่คลอดจากมารดาที่เป็นโรคเชื้อราในช่องคลอด หรือได้รับเชื้อในขณะดูดนม
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่ใส่ฟันปลอม โดยเฉพาะฟันปลอมแบบใส่เต็มปาก เนื่องจากไม่สามารถทำความสะอาดฟันปลอมได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยร่วมอื่น ๆ  เช่น การขาดวิตามินและแร่ธาตุ, ผู้ที่มีภาวะปากแห้ง, การได้รับบาดเจ็บและเชื้อราแคนดิดาเข้าไปในแผล, ความอับชื้นจากอากาศรวมถึงจากเหงื่อ, พันธุกรรม เป็นต้น

อาการเชื้อราในปาก

      เบื้องต้นผู้ป่วยอาจจะไม่ทราบว่าตัวเองเป็นเชื้อราในปาก อาการอาจแสดงขึ้นทันทีหรือใช้เวลาหลายวัน ซึ่งลักษณะอาการมีดังนี้

      ลิ้นไม่ค่อยรับรู้รสชาติ มีคราบสีขาวที่ลิ้น เหงือก เพดานปาก กระพุ้งแก้ม และต่อมทอนซิล หากเชื้อราในปากกระจายไปยังหลอดอาหารจะทำให้กลืนอาหารลำบาก ส่วนทารก และหญิงให้นมบุตร ทารกที่เกิดเชื้อราภายในช่องปากจะมีปัญหาเรื่องการดูดนม และมีอาการหงุดหงิดได้ง่าย นอกจากนี้ ยังอาจแพร่เชื้อไปยังมารดาได้โดยผ่านทางการดูดนมมารดา ทำให้มารดามีอาการติดเชื้อราที่บริเวณหัวนม

 

วิธีป้องกัน

       เพราะความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดเชื้อราในช่องปากได้ โดยวิธีที่จะช่วยให้ช่องปากสะอาดอยู่เสมอมีดังนี้

  • บ้วนปากทุกครั้งหลังรับประทานอาหารรักษาความสะอาดในช่องปากด้วยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ และมีรสจืดเพื่อช่วยลดอาการแสบในช่องปากเมื่อแปรงฟัน  แปรงเหงือก ลิ้น และภายในช่องปากด้วยแปรงสีฟันขนอ่อนนุ่มเป็นประจำเพื่อทำความสะอาด
  • ทำความสะอาดฟันปลอมทุกคืน โดยทำความสะอาดด้วยยาสีฟัน หรือสบู่ และล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นแช่ในน้ำยาสำหรับทำความสะอาดโดยเฉพาะ
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่กระตุ้นการเกิดเชื้อราได้
  • สำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ต้องพ่นยาสเตียรอยด์ ควรบ้วนปากทุกครั้งหลังจากใช้ยา
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ปากแห้ง
  • ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ
  • ในกรณีที่เป็นหญิงให้นมบุตรหรือเด็กบริโภคนมขวด ควรดูแลรักษาความสะอาดของหัวนมมารดาโดยล้างด้วยสบู่ และหัวนม ขวดนมของทารกอยู่เสมอ  โดยควรทำความสะอาดอุปกรณ์ดังกล่าวด้วยน้ำยาล้างขวดนม แล้วล้างด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำสะอาด
  • ทำความสะอาดช่องปากเด็กทารกหลังทานนมด้วยผ้าก๊อซเพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค แนะนำให้เช็ดช่องปาก 2 ครั้งต่อวัน โดยคลี่ผ้าก๊าซออก แล้วพันนิ้วชี้ จากนั้นจุ่มลงไปในน้ำดื่มหรือน้ำสะอาดต้มสุก ใช้นิ้วกวาดเบา ๆ ไปที่เพดานปาก กระพุ้งแก้ม เหงือก จากนั้นใช้ผ้าก๊าซผืนใหม่ พันนิ้ว จุ่มน้ำสะอาด แล้วกวาดไปที่ลิ้น

 

ยาใช้เฉพาะที่ (ในช่องปาก)

1) Clotrimazole lozenge อมครั้งละ 1 เม็ด (10 มก.) วันละ 5 ครั้ง นาน 1-2 สัปดาห์

2) Miconazole oral gel ใช้ทาวันละ 2 ครั้ง นาน 1-2 สัปดาห์

3) Miconazole mucoadhesive buccal tablet อมครั้งละ 1 เม็ด (50 มก.) วันละ 1 ครั้ง นาน 1-2 สัปดาห์

3) Nystatin oral suspension อมกลั้วปากแล้วกลืนครั้งละ 4-6 แสนยูนิต วันละ 4-5 ครั้ง นาน 1-2 สัปดาห์

ยาชนิดรับประทาน

1) Fluconazole 100-200 มก./วัน นาน 1-2 สัปดาห์

2) Itraconazole 100-200 มก./วัน นาน 1-2 สัปดาห์ กรณีเป็นในช่องปากควรใช้รูปแบบยาน้ำ

 อมกลั้วคอแล้วกลืนจะได้ผลดีกว่าชนิดแคปซูล

 

เรียบเรียงโดย

ภญ.เฉลิมขวัญ แสงศรีมณีวงศ์

เอกสารอ้างอิง

1.เชิดชัย สุนทรภาส. แนวปฏิบัติการใช้ยาต้านเชื้อราสําหรับการติดเชื้อราที่ผิวหนังในร้านยา [อินเทอร์เน็ต]. ขอนแก่น: สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น; [เข้าถึงเมื่อ 11 มี.ค. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://ccpe.pharmacycouncil.org/showfile.php?file=562

2.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. โรคเชื้อราในช่องปาก. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.; หน้า 560-561.

3.Pobpad. เชื้อราในปาก. [อินเทอร์เน็ต]. 2566 [เข้าถึงเมื่อ 1 มี.ค. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://www.pobpad.com/%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81

 

 

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.