หน้าหลัก > รายการ > คอลลาเจนกับโรคข้อเข่าเสื่อม
คอลลาเจนกับโรคข้อเข่าเสื่อม
คอลลาเจนกับโรคข้อเข่าเสื่อม
24 Sep, 2021 / By salacrm01
Images/Blog/mBf8vSVp-คอลลาเจนน.jpg

คอลลาเจนกับโรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis หรือ OA)

    เป็นโรคที่มีการอักเสบของข้อที่พบได้บ่อยทั่วโลก โดยข้อเสื่อมที่พบได้บ่อยได้แก่ข้อเข่า มือ และสะโพก ลักษณะของโรค OA มีการสลายของกระดูกอ่อนผิวข้อ การเปลี่ยนแปลง หรือเกิดกระดูกงอกไปจากกระดูกเดิม และการอักเสบของน้ำไขข้อเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการปวด ฝืด บวม และสูญเสียการทำงานของข้อไป

ตามแนวทางการรักษาโรคข้อเสื่อมของ American College of Rheumatology ปี 20191 แนะนำวิธีการรักษาทั้งแบบไม่ใช้ยา และใช้ยา หรือรักษาโดยใช้วิธีทั้ง 2 แบบควบคู่กัน

การรักษาแบบไม่ใช้ยา ตัวอย่างเช่น

  • ประเมินหาปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคของผู้ป่วย (ความอ้วน อาชีพ การใช้งานข้อผิดวิธี เป็นต้น)
  • การออกกำลังกาย (การเดิน การยืด การออกกำลังกายใต้น้ำ เป็นต้น) และการบริหารข้อ
  • การลดน้ำหนักในผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 23 ซึ่งดัชนีมวลกายคำนวณจากน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร)ยกกำลัง 2

การรักษาแบบใช้ยา

    ได้แก่ กลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) รูปแบบรับประทาน ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาทรามาดอล (Tramadol) และยาดูล๊อคซีทีน (Duloxetine) เป็นต้น ทั้งนี้ยาดังกล่าวควรได้รับการแนะนำ หรือได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ เภสัชกร หรือบุคลากรทางแพทย์อย่างถูกต้องก่อนการเริ่มต้นใช้ยา

    แต่ก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของยา รวมถึงโรคร่วมของผู้ป่วยที่เป็นโรค OA โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กลุ่มยา NSAIDs ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จึงมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหายารักษาอื่น ๆ เพื่อลดอาการ อีกทั้งยังช่วยซ่อมแซม หรืออย่างน้อยเพื่อลดการเสื่อมสลายของกระดูกอ่อนผิวข้อได้แก่ ยากลุ่ม SYSADOA##

    ยาในกลุ่ม SYSADOA ที่ใช้อย่างแพร่หลาย และพบได้บ่อยเช่น ยากลูโคซามีน  (Glucosamine หรือ GS) และยาคอนดรอยติน ซัลเฟต (Chondroitin sulfate หรือ CS)  แม้กระนั้นก็มีความกังวลอีกเช่นกันเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยา การศึกษาที่ถูกพิมพ์ออกมาที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยา และอาจมีอคติของการศึกษา ทำให้แนวทางการรักษาจากเดิมที่เคยแนะนำการใช้ยากลุ่มนี้ ณ ปัจจุบันจึงไม่ได้แนะนำ GS และ CS ในการรักษาโรคข้อเสื่อม

         อนุพันธ์คอลลาเจน (Collagen Derivative)  จึงได้รับการสนใจสำหรับโรค OA มากขึ้น โดยกลไกของคอลลาเจนต่อโรค OA ยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้คาดว่ามีผลเหนี่ยวนำการสร้างคอลลาเจนโดยไปกระตุ้นเซลล์กระดูกอ่อน  (Chondrocyes) เป็นโปรตีนเกาะป้องกันกระดูกอ่อนผิว หรือยับยั้งการตายของเซลล์แบบอะพอพโทซิส และการขยายตัวผิดปกติของเซลล์กระดูกอ่อน

         การศึกษา meta-analysis ที่รวบรวมการศึกษา Randomized placebo-controlled trials หรือ RCT ในผู้ป่วย OA จำนวน 5 การศึกษา เพื่อประเมินผลของอนุพันธ์คอลลาเจนในรูปแบบรับประทานกับอาการของโรค OA เปรียบเทียบกับยาหลอก โดยรายงานความรุนแรงของโรค OA เป็นคะแนน WOMAC* (เครื่องมือประเมินความรุนแรงของโรคข้อเสื่อมรายงานผลเป็นคะแนนแบ่งเป็นหัวข้อหลัก 3 หัวข้อได้แก่ อาการปวด การฝืด และข้อจำกัดการทำงานทางกายภาพของข้อ หากคะแนนสูงหมายถึงความรุนแรงของโรคสูง) และ/หรือคะแนน  VAS** (เครื่องมือวัดอาการปวด โดยใช้เส้นตรงยาว 10 เซนติเมตรปลายด้านหนึ่งแทนค่าด้วยเลข 0 หมายถึง ไม่ปวด ปลายอีกด้านหนึ่งแทนค่าด้วยเลข 10 หมายถึง ปวดมากที่สุดเท่าที่จะปวดได้ วัดโดยให้ผู้ป่วยทำเครื่องหมายบนเส้นตรงเพื่อแสดงความรุนแรงของความปวด) ที่เปลี่ยนแปลงไป ระยะเวลาของการศึกษา RCT ที่รวบรวมเข้ามาศึกษาส่วนใหญ่ประมาณ 3-6 เดือน พบว่าในกลุ่มผู้ป่วย OA ที่ได้รับอนุพันธ์คอลลาเจนมีคะแนน WOMAC รวมลดลงแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับยาหลอก (WMD*** -8.00; 95% CI  -13.04,- 2.95; p = 0.002) และยังพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับอนุพันธ์คอลลาเจนมีคะแนน VAS ลดลงแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับยาหลอก (WMD -16.57; 95% CI -26.24, -6.89; p < 0.001)

           เมื่อพิจารณาวิเคราะห์รายงานผลแยกหัวข้อของคะแนน WOMAC พบว่าในหัวข้อการฝืดของข้อ กลุ่มที่ได้รับคอลลาเจนมีคะแนนลดลงแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับยาหลอก (WMD -0.41; 95% CI -0.74, -0.08; p = 0.01) แต่ขณะเดียวกันในส่วนหัวข้ออาการปวด และข้อจำกัดการทำงานทางกายภาพ กลุ่มที่ได้รับคอลลาเจนมีคะแนนลดลงไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับยาหลอก (WMD -0.22; 95% CI -1.58, 1.13; p = 0.75 และ WMD -0.62; 95% CI -5.77, 4.52; p = 0.81 ตามลำดับ)  ทั้งนี้อาจด้วยข้อจำกัดของการศึกษา เนื่องจากการศึกษาที่รวบรวมมาได้ในปัจจุบันมีจำนวนไม่มาก กลุ่มจำนวนประชากรในแต่ละการศึกษาขนาดเล็ก ระยะเวลาในแต่ละการศึกษาสั้น อาจทำให้ผลการศึกษาออกมาไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

            นอกจากนี้สูตรอนุพันธ์คอลลาเจนในแต่ละศึกษาที่รวบรวมเข้ามาในการศึกษามีแตกต่างกัน โดยมีทั้งสูตร Collagen hydrolysate ได้รับปริมาณ  10 กรัมต่อวัน Collagen peptides ได้รับปริมาณ 10 กรัมต่อวัน และ Undenatured type II collagen ได้รับปริมาณ 40 มิลลิกรัมต่อวัน ผลการศึกษาจึงมีความต่างกันของการศึกษา (Heterogeneity) สูง แม้กระนั้นทุกการศึกษาแม้มีรูปแบบสูตรที่ต่างกัน พบว่ามีแนวโน้มบรรเทาอาการของโรค OA  ดังนั้นหากนำอนุพันธ์คอลลาเจนไปใช้ในโรค OA จึงควรพิจารณาแต่ละการศึกษาอย่างระมัดระวัง และควรมีการศึกษาค้นคว้าอื่นเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

 

#NSAIDs                       = Non-steroidal anti-inflammatory drugs

##SYSADOA                 = Symptomatic slow acting drugs for osteoarthritis

*WOMAC                      = Western Ontario and McMaster Universities Osteoarthritis Index scale

** VAS                          = Visual Analog Scale

*** WMD                      = Weighted mean difference

 

เรียบเรียงโดย

ภก.ศุภกร สมบุญมี (กร)

เอกสารอ้างอิง

1.Kolasinski SL, Neogi T, Hochberg MC, Oatis C, Guyatt G, Block J, Callahan L, Copenhaver C, Dodge C, Felson D, Gellar K. 2019 American College of Rheumatology/Arthritis Foundation guideline for the management of osteoarthritis of the hand, hip, and knee. Arthritis & Rheumatology. 2020 Feb;72(2):220-33.

2.Olsen AM, Fosbøl EL, Lindhardsen J, Folke F, Charlot M, Selmer C, Bjerring Olesen J, Lamberts M, Ruwald MH, Køber L, Hansen PR. Long-term cardiovascular risk of nonsteroidal anti-inflammatory drug use according to time passed after first-time myocardial infarction: a nationwide cohort study. Circulation. 2012 Oct 16;126(16):1955-63.

3.Curtis E, Fuggle N, Shaw S, Spooner L, Ntani G, Parsons C, Honvo G, Baird J, Maggi S, Dennison E, Bruyère O. Safety of cyclooxygenase-2 inhibitors in osteoarthritis: outcomes of a systematic review and meta-analysis. Drugs & aging. 2019 Apr;36(1):25-44.

4.Wandel S, Jüni P, Tendal B, Nüesch E, Villiger PM, Welton NJ, Reichenbach S, Trelle S. Effects of glucosamine, chondroitin, or placebo in patients with osteoarthritis of hip or knee: network meta-analysis. Bmj. 2010 Sep 16;341:c4675.

5.Runhaar J, Rozendaal RM, van Middelkoop M, Bijlsma HJ, Doherty M, Dziedzic KS, Lohmander LS, McAlindon T, Zhang W, Zeinstra SB. Subgroup analyses of the effectiveness of oral glucosamine for knee and hip osteoarthritis: a systematic review and individual patient data meta-analysis from the OA trial bank. Annals of the rheumatic diseases. 2017 Nov 1;76(11):1862-9.

6.Eriksen P, Bartels EM, Altman RD, Bliddal H, Juhl C, Christensen R. Risk of bias and brand explain the observed inconsistency in trials on glucosamine for symptomatic relief of osteoarthritis: a meta‐analysis of placebo‐controlled trials. Arthritis care & research. 2014 Dec;66(12):1844-55.

7.Honvo G, Bruyere O, Geerinck A, Veronese N, Reginster JY. Efficacy of chondroitin sulfate in patients with knee osteoarthritis: a comprehensive meta-analysis exploring inconsistencies in randomized, placebo-controlled trials. Advances in therapy. 2019 May 1;36(5):1085-99.

8.Oesser S, Seifert J. Stimulation of type II collagen biosynthesis and secretion in bovine chondrocytes cultured with degraded collagen. Cell and tissue research. 2003 Mar 1;311(3):393-9.

9.Oesser S, Adam M, Babel W, Seifert J. Oral administration of 14C labeled gelatin hydrolysate leads to an accumulation of radioactivity in cartilage of mice (C57/BL). The Journal of nutrition. 1999 Oct 1;129(10):1891-5.

10.Dai M, Sui B, Xue Y, Liu X, Sun J. Cartilage repair in degenerative osteoarthritis mediated by squid type II collagen via immunomodulating activation of M2 macrophages, inhibiting apoptosis and hypertrophy of chondrocytes. Biomaterials. 2018 Oct 1;180:91-103.

11.García-Coronado JM, Martínez-Olvera L, Elizondo-Omaña RE, Acosta-Olivo CA, Vilchez-Cavazos F, Simental-Mendía LE, Simental-Mendía M. Effect of collagen supplementation on osteoarthritis symptoms: A meta-analysis of randomized placebo-controlled trials. International Orthopaedics. 2019 Mar 14;43(3):531-8.

12.Schauss AG, Stenehjem J, Park J, Endres JR, Clewell A. Effect of the novel low molecular weight hydrolyzed chicken sternal cartilage extract, BioCell Collagen, on improving osteoarthritis-related symptoms: a randomized, double-blind, placebo-controlled trial. Journal of agricultural and food chemistry. 2012 Apr 25;60(16):4096-101.

13.Benito-Ruiz P, Camacho-Zambrano MM, Carrillo-Arcentales JN, Mestanza-Peralta MA, Vallejo-Flores CA, Vargas-López SV, Villacís-Tamayo RA, Zurita-Gavilanes LA. A randomized controlled trial on the efficacy and safety of a food ingredient, collagen hydrolysate, for improving joint comfort. International journal of food sciences and nutrition. 2009 Jan 1;60(sup2):99-113.

14.McAlindon TE, Nuite M, Krishnan N, Ruthazer R, Price LL, Burstein D, Griffith J, Flechsenhar K. Change in knee osteoarthritis cartilage detected by delayed gadolinium enhanced magnetic resonance imaging following treatment with collagen hydrolysate: a pilot randomized controlled trial. Osteoarthritis and Cartilage. 2011 Apr 1;19(4):399-405.

15.Kumar S, Sugihara F, Suzuki K, Inoue N, Venkateswarathirukumara S. A double‐blind, placebo‐controlled, randomised, clinical study on the effectiveness of collagen peptide on osteoarthritis. Journal of the Science of Food and Agriculture. 2015 Mar 15;95(4):702-7.

16.Lugo JP, Saiyed ZM, Lane NE. Efficacy and tolerability of an undenaturated type II collagen (UC-II) supplement in modulating knee joint function: a multicenter randomized, double blind, placebo controlled clinical study in osteoarthritic subjects. Nutr J. 2016;15:14..

 

เพิ่มเพื่อน

Like
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.