หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > ภาวะหลอดเลือดขอด (Varicose Vein)
ภาวะหลอดเลือดขอด (Varicose Vein)
ภาวะหลอดเลือดขอด (Varicose Vein)
20 Sep, 2022 / By salacrm01
Images/Blog/yoXd5QPq-(Varicose-Vein).jpg

ภาวะหลอดเลือดขอด (Varicose Vein)

    ภาวะหลอดเลือดขอดเป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดดำ กลไกการเกิดโรคเกิดจากการที่ลิ้นในหลอดเลือดดำ (Venous valve) ไม่สามารถปิดได้สนิท โดยอาจจะเกิดจากการที่เส้นเลือดดำขยายตัวกว้างขึ้นจากการเสื่อมสภาพของผนังหลอด ทำให้แรงดันในหลอดเลือดดำเพิ่มสูงขึ้น (Venous hypertension) เกิดการไหลย้อนกลับของเลือด (reflux) ทำให้หลอดเลือดดำขยายตัวกว้างขึ้น เมื่อเกิดเป็นระยะเวลานานก็จะทำให้มีการซึมของน้ำจากในหลอดเลือดออกไปสู่เนื้อเยื่อข้างเคียง

อาการและอาการแสดงของหลอดเลือดขอด

          ผู้ป่วยมักมีอาการปวด ตึง รู้สึกหนักขา ขาอ่อนแรง ตะคริว เหน็บชา และอาการทางผิวหนัง เช่น อาการคันและบวม ร่วมกับปัญหาทางด้านความงาม เห็นรอยสีแดง ม่วงหรือเขียวยาวตามเส้นเลือด แต่บริเวณรอบ ๆ ซีดลง มักพบปัญหาบริเวณข้อพับ น่อง ข้อเท้า และต้นขา ส่งผลให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจ มีความกังวลจนกระทบต่ออารมณ์เป็นเหตุทำให้ผู้ป่วยต้องหยุดงานหรือขาดเรียน ผู้ป่วยอาจเริ่มจากอาการปวดตึงเจ็บเฉพาะที่หรือลามไปทั้งขาโดยที่มองไม่เห็นสีหรือลักษณะหลอดเลือดดำ ขอดหรือบางรายอาจพบเพียงความผิดปกติด้านความสวยงาม ส่วนใหญ่อาการมักแย่ลงช่วงเย็น ช่วงที่มีประจำเดือนหรือสัมผัสความร้อน อาการดีขึ้นเมื่อพักและยกขาสูงขึ้น

   

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดหลอดเลือดขอด

1.อายุ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นหลอดเลือดและกล้ามเนื้อจะสูญเสียความยืดหยุ่นไปส่งผลทำให้การเคลื่อนไหวของแรงดันผิดปกติได้ รวมถึงผนังหลอดเลือดที่ถูกใช้งานมานานก็จะบางลง

2.การตั้งครรภ์ ผลจากการที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้นจึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดดำขอด ทั้งนี้ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์และจำนวนครั้งที่ตั้งครรภ์เนื่องจากผลของฮอร์โมนเอสโตรเจน  จะทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดการอุดตันในเส้นเลือดดำ (DVT) ส่งผลให้แรงดันในหลอดเลือดดำเพิ่มสูงขึ้น (Venous hypertension) เกิดการไหลย้อนกลับของเลือด

3.อาชีพ ผู้ประกอบอาชีพหรือมีพฤติกรรมที่จำเป็นต้องยืนหรือนั่งท่าทางเดิมเป็นเวลานานและการใส่รองเท้าส้นสูง เช่น พนักงานขายในห้างสรรพสินค้า พนักงานเก็บเงินบนรถโดยสาร เป็นต้น เนื่องจากความดันของหลอดเลือดดำที่เพิ่มขึ้นและการหมุนเวียนของเลือดไม่ดี ทำให้มีการอุดตันจนทำให้เลือดคั่ง และไม่สามารถไหลกลับไปที่หัวใจได้ ทำให้เกิดแรงดันภายในเส้นเลือดดำจนโป่งพอง

4.น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหรือความอ้วน มีผลต่อความดันของหลอดเลือดดำที่เพิ่มขึ้น

5.บุหรี่ มีผลทำลายเนื้อเยื่อในหลอดเลือดดำ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ในระบบหัวใจและหลอดเลือด

6.พันธุกรรม สันนิษฐานว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติของลิ้นหรือการพัฒนาของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของหลอดเลือดดำตั้งแต่กำเนิด

แนวทางการรักษาหลอดเลือดดำขอด

1.การรักษาโดยไม่ใช้ยา

          1) การปรับพฤติกรรม (Life style modification) เพื่อช่วยลดปัจจัยที่มีผลต่อโรคและความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยทุกรายควรได้รับคำแนะนำเพื่อปรับพฤติกรรม เนื่องจากผู้ป่วยหลอดเลือดดำขอดที่ขานั้นมีความดันเลือดดำที่ขาสูงผิดปกติ จึงแนะนำให้ผู้ป่วยลดน้ำหนัก ยกขาหรือเท้าสูงขึ้นอย่างน้อยเท่าระดับของหัวใจนาน 30 นาที วันละ 4 ครั้ง หรือหลีกเลี่ยงการยืน นั่งหรืออยู่ท่าทางเดียวเป็นเวลานาน เพื่อช่วยลดอาการปวดและความรุนแรงของโรค

          2) การพันรัด (Compression therapy) การพันขาช่วยลดความดันหลอดเลือดดำที่ขา ลดการไหล ย้อนกลับของเลือด (Venous reflux) และเพิ่มความสมดุลของหลอดเลือดดำ (venous hemodynamics) ได้ เช่น การรักษาด้วยการใส่ถุงน่อง เป็นการรักษาที่เป็นพื้นฐานและใช้บ่อยสำหรับรักษาเส้นเลือดขอด ขาบวม ผิวหนังเปลี่ยนแปลง หรือแผลเรื้อรังที่เกิดจากการอุดตันในหลอดเลือดดำ โดยใช้ร่วมกับการรักษาด้วยยาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

2.การรักษาโดยการใช้ยา (Medical treatment)

          ยาที่แนะนำได้แก่ ยากลุ่ม Saponin (Horse chestnut seed extract หรือ Aescin), Gamma-benzopyrenes (Flavonoids) ทำให้ลดความรุนแรงของการอักเสบของหลอดเลือด และช่วยลดอาการบวม ตัวอย่างเช่น Micronized purified flavonoid fraction (MPFF) ชื่อทางการค้าคือ Daflon® จัดอยู่ในกลุ่ม Phlebotropic มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาความผิดปกติของการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดดำ ได้แก่ หลอดเลือดดำขอด และใช้รักษาโรคริดสีดวงทวาร MPFF มีผลเพิ่มการบีบตัวของหลอดเลือดดำและลดความสามารถในการผ่านหรือการเกิดการรั่วซึมของสารหรือเซลล์บริเวณหลอดเลือดฝอยจึงมีบทบาทลดกระบวนการอักเสบ

          ข้อมูลการใช้ MPFF ในการศึกษาอาสาสมัครหญิงสุขภาพดีอายุ 18 - 35 ปี จำนวน 25 ราย ที่มีหลอดเลือดดำขอดที่ขา 1 ข้าง และขาอีกข้างพบความผิดปกติของโมดูลัสยืดหยุ่น (Elastic modulus) ของหลอดเลือด ผู้เข้าร่วมวิจัยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ด้วยวิธีสุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มรักษา อาสาสมัครรับประทาน MPFF ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง (1,000 มิลลิกรัมต่อวัน) นาน 4 สัปดาห์ และ 2) กลุ่มควบคุมไม่ได้รับการรักษา การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการใช้ MPFF 1,000 มิลลิกรัมเมื่อเทียบกับยาหลอก สามารถเพิ่มความยืดหยุ่น ของหลอดเลือดดำในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดดำขอด ลดโอกาสเกิดหลอดเลือดขอด

           อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่พบบ่อย ได้แก่ ผื่น คัน คลื่นไส้ อาเจียน ไม่สบายท้อง และท้องเสีย เป็นต้น

3. การทำหัตถการหรือการผ่าตัดรักษาสาเหตุของหลอดเลือดดำขอด

           แบ่งตามตำแหน่งของหลอดเลือดดำที่มีปัญหา โดยอาจพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัดประเภทต่าง ๆ เช่น การผูกและตัดแขนงหลอดเลือดดำ รวมถึงการเย็บซ่อมแซมหลอดเลือด, การผ่าตัดรักษาโดยใช้เลเซอร์ (Endovenous laser ablation, EVLA) สำหรับหลอดเลือด Great Saphenous Vein (GSV) หรือการผ่าตัดโดยใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency ablation, RFA) เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายพิจารณาการฉีดสารระคายเคืองเข้าหลอดเลือด (Sclerotherapy) หลังทำการผ่าตัด

 

เรียบเรียงโดย

ภก.อัฑฒ์ ไสวารี

อ้างอิง

1.สุธินี สุคนธามาศ, เกียรติศักดิ์ ทัศนวิภาส. ภาวะหลอดเลือดขอด (Varicose Vein). วารสารสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ [อินเตอร์เน็ต]. 2022 [เข้าถึงเมื่อ 2022 Jun 29]; 2022. เข้าถึงได้จาก: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/agstjournal/article/view/243705/165650

2.สิรินุช พละภิญโญ. การรักษาหลอดเลือดดำขอดด้วยสารสกัดฟลาโวนอยด์ [อินเตอร์เน็ต]. 2022 [เข้าถึงเมื่อ 2022 Jun 29];2022 เข้าถึงได้จาก: https://ccpe.pharmacycouncil.org/showfile.php?file=517

3.Piazza G. Varicose Veins. Circulation 2014;130:582

4.Gloviczki P, Gloviczki ML. Guidelines for the management of varicose veins. Phlebology 2012;27 Suppl 1:2-9

5.Gohel MS, Barwell JR, Taylor M, Chant T, Foy C, Earnshaw JJ, et al. Long term results of compression therapy alone versus compression plus surgery in chronic venous ulceration (ESCHAR): randomised controlled trial. Bmj 2007;335:83

6.Lyseng-Williamson KA, Perry CM. Micronised purified flavonoid fraction: a review of its use in chronic venous insufficiency, venous ulcers and haemorrhoids. Drugs 2003;63:71-100.

7.Ramelet AA. Daflon 500 mg: symptoms and edema clinical update. Angiology 2005;56 Suppl 1:S25- 32.

8.London NJM, Nash R. Varicose veins. BMJ : British Medical Journal 2000;320:1391-4

9.Marsden G, Perry M, Kelley K, Davies AH. Diagnosis and management of varicose veins in the legs: summary of NICE guidance. BMJ : British Medical Journal 2013;347

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.