หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > รู้หรือไม่ การขริบฯ สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ได้
รู้หรือไม่ การขริบฯ สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ได้
รู้หรือไม่ การขริบฯ สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ได้
25 Nov, 2022 / By salacrm01
Images/Blog/3F8bAiLR-รู้หรือไม่1.jpg

รู้หรือไม่ การขริบฯ สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ได้

         การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย (Male circumcision) หมายถึง การตัดเอาหนังที่หุ้มบริเวณปลายอวัยวะเพศชายออก เป็นหัตถการทางศัลยศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุด ช่วงเวลาที่ทำมีได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่ และยังมีผู้ประมาณการว่าผู้ชายทั่วโลกถึง 1 ใน 3 จะได้รับการขริบฯ ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยในการขริบฯ ขึ้นหลายแบบ แต่ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ได้แก่ Shang Ring (แสดงดังรูปที่ 1) ซึ่งมีลักษณะเป็นวงแหวนพลาสติก 2 ชิ้น ข้อดีของอุปกรณ์นี้เมื่อเทียบกับวิธีเดิมทั่วไปที่ใช้กรรไกรและคีม คือ ทำง่ายกว่า ใช้เวลาในการทำน้อยกว่า มีความปลอดภัย ได้รับการยอมรับจากผู้รับบริการสูง และไม่ต้องมีการเย็บ ทำให้แผลมีความสวยงาม


       


รูปที่ 1 : Shang Ring อุปกรณ์ช่วยในการขริบที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด
          (Jack Chang. (2022). Shang Ring Adult Circumcision. เข้าถึงจาก
https://www.pollockclinics.com/shang-ring-adult-circumcision/)

          ในปีพ.ศ. 2539 มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการขริบฯ อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus; HIV ) เป็นครั้งแรก และข้อสงสัยดังกล่าวได้รับการยืนยันว่าเป็นความจริงเมื่อการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Randomized controlled trials) จำนวน 3 การศึกษา ซึ่งเปิดเผยระหว่างปี พ.ศ. 2548 - 2550 แสดงให้เห็นตรงกันว่าการขริบฯ ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์แบบต่างเพศ จากคู่เพศสัมพันธ์หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีมายังชายได้ถึงร้อยละ 51 - 60

           ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2550 องค์การอนามัยโลกและโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติได้ร่วมกันประกาศรับรองให้การขริบฯ เป็นการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่มีประสิทธิผล และกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ พิจารณาใช้การขริบฯ เป็นมาตรการเสริมที่สำคัญในการป้องกันเอชไอวี         

          สำหรับผลของการป้องกันระยะยาว พบว่าประสิทธิผลของการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอยู่ที่ร้อยละ 58 เมื่อเวลาผ่านไป 6 ปี จากการติดตามอาสาสมัครของโครงการวิจัยในประเทศเคนยา   

          ปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาที่แสดงถึงประสิทธิผลของการขริบฯ ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี สำหรับกรณีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย รวมถึงกรณีทำการขริบฯ ในผู้ชายที่ติดเชื้อเอชไอวีเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีของคู่เพศสัมพันธ์ที่เป็นเพศหญิง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีในประชากรเพศหญิงจะลดลงโดยทางอ้อม หากความครอบคลุมของการขริบฯ ในชายสูงพอตามหลักภูมิคุ้มกันกลุ่ม (Herd immunity) กล่าวคือ เมื่อมีการขริบฯ ในเพศชายเพิ่มมากขึ้น โอกาสที่จะได้รับเชื้อเอชไอวีจากเพศหญิงจะลดลง ทำให้โอกาสในการแพร่เชื้อเอชไอวีของเพศชายสู่ประชากรเพศหญิงลดลงตามมา

         สาเหตุที่การขริบฯ สามารถลดโอกาสในการติดเชื้อเอชไอวีได้นั้น เกิดจาก      

          1) ผนังด้านในของหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายมีเซลล์เม็ดเลือดขาวบางชนิดอยู่อย่างหนาแน่นกว่าบริเวณอื่น ซึ่งเซลล์เหล่านี้เป็นเซลล์เป้าหมายหลักของเชื้อเอชไอวีในการเข้าสู่ร่างกาย เมื่อเนื้อเยื่อบริเวณนี้ถูกตัดออกเนื่องจากการขริบฯ ทำให้จำนวนเซลล์เหล่านี้มีจำนวนน้อยลง         

          2) ผิวเนื้อเยื่อบริเวณนี้ไม่มีชั้นที่หนาตัวของเคอราติน (Keratin) ปกคลุมทำให้ง่ายต่อการเกิดการฉีกขาดขนาดเล็ก (Micro injuries) ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ และเมื่อร่วมกับเป็นบริเวณที่มีเลือดมาเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ทำให้เชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายผ่านทางระบบหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น    

          3) ขณะอวัยวะเพศชายอ่อนตัว จะเกิดเป็นช่องระหว่างด้านในของหนังหุ้มปลายและปลายองคชาตมีลักษณะเป็นถุงที่มีสภาวะเหมาะสมที่เชื้อเอชไอวีจะมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น เมื่อตัดเอาหนังหุ้มปลายออก ก็สามารถลดโอกาสการติดเชื้อเอชไอวีได้          

          4) ผลทางอ้อมจากการที่ผู้ผ่านการขริบฯ มีโอกาสรับเชื้อเอชไอวีผ่านทางแผลของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นลดลง อาทิเช่น เริม ซิฟิลิส เป็นต้น เนื่องจากการขริบฯ ช่วยลดโอกาสในการป่วยเป็นโรคเหล่านั้น  

           ข้อดีของการขริบฯ เมื่อเทียบกับมาตรการป้องกันเอชไอวีอื่น ๆ ได้แก่ ทำเพียงครั้งเดียวแต่ส่งผลในการป้องกันเอชไอวีตลอดชีวิต โดยประสิทธิผลของการป้องกันเอชไอวีจากการขริบฯ ไม่ต้องพึ่งพฤติกรรมสุขภาพที่ต้องการความสม่ำเสมออย่าง เช่น การสวมถุงยางอนามัย หรือการกินยาต้านเอชไอวี เชื่อว่าผลของการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี จะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปเนื่องจากกระบวนการการสร้างเซลล์ใหม่ (Keratinization) บริเวณส่วนปลายสุดขององคชาต (Glans) ทำให้ผิวบริเวณนั้นหนาตัวขึ้นเป็นชั้นป้องกันการเข้าสู่ร่างกายของเชื้อเอชไอวี              

          อย่างไรก็ตาม การขริบฯ ไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้ที่จะทำการขริบฯ ควรได้รับคำแนะนำให้ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และงดมีเพศสัมพันธ์หลังทำการขริบฯ จนกว่าแผลจะหายดี เพื่อป้องกันโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ที่อาจเพิ่มขึ้นระหว่างที่แผลยังไม่หายสนิท นอกจากนี้ ภายหลังการขริบฯ ควรมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยการใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยทุกครั้ง ซึ่งจะเรียกพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้นนี้ว่าปรากฏการณ์ “Risk compensation” ที่เกิดจากการไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงผลในการป้องกันโรคของการขริบฯ หรือการเข้าใจผิด ทำให้มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น       

          แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะประกาศรองรับให้การขริบฯ เป็นการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่มีประสิทธิผล แต่สำหรับประเทศไทย มีการขริบฯ น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติตามความเชื่อหรือข้อกำหนดทางศาสนาอิสลามและตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ สำหรับประโยชน์ของการขริบฯ ในลักษณะของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคยังมีน้อย เนื่องจากยังไม่จัดเป็นมาตรการทางสาธารณสุข และไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพหลักทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ, ระบบประกันสังคม, และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะนี้จึงเป็นลักษณะเฉพาะรายตามความต้องการของผู้รับบริการและความเหมาะสมเท่านั้น อีกทั้งยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตทางจริยธรรมว่าเป็นการละเมิดต่อร่างกายเด็ก ควรรอให้เด็กโตขึ้นแล้วตัดสินใจเองว่าจะขริบฯ หรือไม่ จะเหมาะสมกว่าเนื่องจากไม่ใช่สิ่งจำเป็นเร่งด่วน 

 

เรียบเรียงโดย 

ภก.ชาตินัย ไชยชมภู

เอกสารอ้างอิง  

          ศ.นพ.สุวัฒน์จริยาเลิศศักดิ์. (2560). การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย (Male circumcision). ใน นพ.สุเมธ องค์วรรณด (บ.ก.), แนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ปี 2560. (น. 364-368).  โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด: สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.     

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.