หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > วิธีรับมือกับอาการปวดประจำเดือน
วิธีรับมือกับอาการปวดประจำเดือน
วิธีรับมือกับอาการปวดประจำเดือน
26 Jan, 2023 / By salacrm01
Images/Blog/oKhCiKOy-5.jpg

วิธีรับมือกับอาการปวดประจำเดือน

ประเภทของอาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)

การปวดประจำเดือนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

    1.Primary dysmenorrhea: การปวดซ้ำ ๆ ในช่วงมีประจำเดือน โดยไม่มีความผิดปกติของเชิงกราน อาการปวดมักเริ่มใน 1 วันก่อนมีประจำเดือน และคงอยู่ไม่เกิน 2-3 วัน

    2.Secondary dysmenorrhea: อาการปวดประจำเดือน จากการมีความผิดปกติของเชิงกราน เช่น เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ระยะเวลาในการปวดจะนานกว่า Primary dysmenorrhea โดยมักปวด 5-7 วันก่อนมีประจำเดือน และคงอยู่จนถึงระยะที่มีประจำเดือน

อาการปวดท้องประจำเดือนเกิดจากอะไร

    อาการปวดประจำเดือนเกิดจากสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน ชื่อว่า โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งถูกควบคุมการสร้างโดยฮอร์โมนที่มีชื่อว่า โปรเจสเตอร์โลน (Progesterone) ซึ่งเมื่อมีประจำเดือนฮอร์โมนดังกล่าวจะมี ระดับลดลง จึงทำให้ปริมาณของสารตั้งต้นที่ใช้ในการสร้าง โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) มีปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวและหดเกร็งคล้ายกับอาการเจ็บปวดขณะคลอดบุตร นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หากร่างกายหลั่งสารนี้ในปริมาณมากจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการบีบรัด ทำให้รู้สึกปวดประจำเดือนยิ่งขึ้น

การรักษา

    1.การประคบอุ่นเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อที่ตึงมีการผ่อนคลาย ประคบด้วยกระเป๋าน้ำร้อนครั้งละ 3-5 นาที จะช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง วิธีนี้มีการวิจัยว่า สามารถลดอาการปวดได้ดีพอ ๆ กับการรับประทานยาแอสไพริน(Aspirin) หากไม่มีกระเป๋าน้ำร้อน จะใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อนแทนก็ได้

    2.ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์  (Non-Steroidal Anti- Inflammatory  (NSAIDs))  เป็นทางเลือกแรกในการรักษาอาการปวดประจำเดือน โดยแนะนำให้รับประทาน 1-2 วันก่อนมีประจำเดือน ตัวอย่างยา เช่น Naproxen Ibuprofen Mefenamic acid cและ Celecoxib

    3.ยากลุ่มต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น Hyoscine ช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบและช่วยบรรเทาอาการปวดเทียบเท่าการใช้ยาแอสไพริน หรือยาพาราเซตามอล แต่อย่างไรก็ตามพบว่าการใช้ Hyoscine ร่วมกับยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ให้ผลดีกว่าการใช้ยาแบบเดี่ยว

    4.ยาคุมกำเนิด โดยในผู้ที่ไม่มีข้อห้ามใช้จะแนะนำการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเป็นทางเลือกแรก เนื่องจากยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ ทำให้ endometrium เกิดการฝ่อบางลงกว่าปกติ จึงช่วยลดปริมาณเลือดประจำเดือนหรืออาจทำให้ขาดประจำเดือน และลดปริมาณการสร้าง arachidonic acid ลดการสร้าง prostaglandin ในมดลูกและในเลือดลง จึงช่วยลดอาการปวดจากการหดรัดตัวของมดลูกลงได้ โดยขนาดยาของ estrogen ไม่มีความแตกต่างในการรักษาจึงแนะนำการใช้ยาคุมกำเนินชนิดฮอร์โมนรวมแบบมีระดับฮอร์โมน estrogen ต่ำเพื่อลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาคุมกำเนิดด้วย   

    5.วิตามิน เช่น Vitamin B1 , Vitamin B6 , Vitamin E, Fish oil , Magnesium โดยใช้หลักการทำให้เกิดความสมดุลระหว่างสารต้านการอักเสบ และสารก่อการอักเสบ เพื่อต้านฤทธิ์ของสารก่อการอักเสบ ทำให้บรรเทาอาการบีบรัดตัวของมดลูกได้

การปฏิบัติตัวอื่น ๆ เพิ่มเติม

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เล่นกีฬา เช่น วิ่งจ็อกกิ่ง ว่ายน้ำ เดิน ช่วยให้ผ่อนคลาย คลายเครียด การออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือการทำโยคะ จะช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้
  • รับประทานผักและผลไม้ ลดปริมาณอาหารที่มีไขมัน เกลือ เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขนมหวาน
  • ควรหลีกเลี่ยงบุหรี่ และแอลกอฮอล์ เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงในการปวดประจำเดือนได้
  • การแต่งตัว ควรใส่เสื้อผ้าที่หลวม ๆ ไม่ควรใส่แบบรัดรูป เพราะจะทำให้รู้สึกอึดอัด อาจเพิ่มอาการปวดแน่นท้องมากขึ้น

อาการใดบ้างที่ควรไปพบแพทย์

  • รับประทานยาแก้ปวดแล้วแต่ไม่ตอบสนองการรักษา
  • อาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้น
  • มีอายุมากกว่า 25 ปี และรู้สึกปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง
  • มีไข้มากกว่า 38.6oc ร่วมกับมีสารคัดหลั่งผิดปกติ
  • เลือดประจำเดือนไหลออกมามากกว่าปกติ โดยต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง
  • รู้สึกปวดท้องน้อยถึงแม้ไม่มีประจำเดือนก็ตาม
  • มีอาการติดเชื้อ เช่น ตกขาวมีกลิ่น อาการคันบริเวณปากช่องคลอด เลือดประจำเดือนมีสีแปลกไปจากปกติ
  • ปวดท้องประจำเดือนร่วมกับภาวะมีบุตรยาก

เรียบเรียงโดย

ภญ.สุภัทรี นามวิชัยศิริกุล

อ้างอิง

1.วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล.ปวดท้องประจำเดือน อาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คุณคิด[internet]เข้าถึงเมื่อ:05/10/65 เข้าถึงได้จาก:https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/july-2019/dysmenorrhea

2.จุฑาธิป พูนศรัทธา.วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นหากมีอาการปวดประจำเดือนโดยไม่ต้องพึ่งยา[internet]เข้าถึงเมื่อ:05/10/65 เข้าถึงได้จาก: https://www.vejthani.com/th/2019/09/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87/
Krit W James.

3.ศิรินาถ ศิริเลิศ และอุษณีย์ แสนหมี่.การรักษาภาวะปวดประจำเดือน[internet]เข้าถึงเมื่อ:11/12/65 เข้าถึงได้จาก: https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/topic-review/2858/

4.เบญจมาภรณ์ บุตรศรีภูมิ,มัธชุพร สุขประเสริฐ.การจัดการกับอาการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ[internet]เข้าถึงเมื่อ:11/12/65 เข้าถึงได้จาก: file:///C:/Users/Sala0801/Downloads/anantaya_nice,+Journal+editor,+RamaMedJ+33+No+3,++216-224.pdf

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.