หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > หลากหลายคุณประโยชน์จากน้ำมันแฟลกซ์
หลากหลายคุณประโยชน์จากน้ำมันแฟลกซ์
หลากหลายคุณประโยชน์จากน้ำมันแฟลกซ์
22 Oct, 2022 / By salacrm01
Images/Blog/fOpx9EsK-หลากหลายคุณประโยชน์จากน้ำมันแฟลกซ์.jpg

หลากหลายคุณประโยชน์จากน้ำมันแฟลกซ์


          น้ำมันแฟลกซ์ (Flaxseed oil) คือ น้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดแฟลกซ์ (Flaxseed) หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือเมล็ดลินิน (Linseed) เป็นเมล็ดของต้นปอป่าน ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Linum usitatissimum มีการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านสุขภาพหลายอย่าง เนื่องจากน้ำมันแฟลกซ์อุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวกว่า 73 เปอร์เซ็นต์ ของกรดไขมันทั้งหมด โดยเฉพาะกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก (α-linolenic acid หรือ ALA) ซึ่งเป็นกรดไขมันโอเมก้า-3 (ω-3 fatty acid) กรดไขมันชนิดอื่นที่พบ มีดังตาราง

 

 

ตารางแสดงสัดส่วนของกระไขมันที่พบในน้ำมันเมล็ดแฟลกซ์

 

1. ประโยชน์ด้านสุขภาพของน้ำมันแฟลกซ์

    1.1 ลดการเกิดภาวะไขมันผิดปกติ (Dyslipidemia) และการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular diseases)

          Omega-3 polyunsaturated fatty acids (ω-3 PUFAs) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่พบในปลา ซึ่งโครงสร้างแตกต่างจากกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิกที่พบในเมล็ดแฟลกซ์ ดังนั้น ผลต่อการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดจึงแตกต่างกันด้วย ข้อมูลของกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิกเกี่ยวกับคุณประโยชน์ทางสุขภาพยังมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับน้ำมันปลาและยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

          จากการศึกษาพบความชุกในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสัดส่วนผกผันกับการได้รับกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก หมายความว่าความชุกในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงเมื่อระดับของกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิกเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ (Cardioprotective effect) การศึกษา Lyon Diet Heart Study พบว่ากรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิกสามารถลดความเสี่ยงการกำเริบของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายที่เสียชีวิตและไม่เสียชีวิต (Recurrent fatal and nonfatal myocardial infarction) และลดความเสี่ยงการเสียชีวิต (Mortality) และความบกพรองในภาวะสุขภาพ (Morbidity) จากโรคหัวใจได้ 73 เปอร์เซ็นต์ และมีการศึกษาผู้ป่วยกลุ่มหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันซึ่งได้รับกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก 2.9 กรัมต่อวัน พบว่าลดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ (Cardiac death) และ กล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่เสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก

        โดยกลไกการป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว การศึกษาในมนุษย์ยังไม่ทราบชัดเจน แต่จากการศึกษาในหนูทดลอง พบว่าเมล็ดแฟลกซ์ 0.4 กรัมต่อวัน มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเพิ่มสารชักนำการอักเสบ (Inflammatory marker) เช่น Interleukin (IL)-6, Mac-3, Vascular cell adhesion molecule (VCAM)-1 และ proliferating cell nuclear antigen ในเนื้อเยื่อที่ผนังหลอดเลือดแดงเข็งตัวจากเส้นเลือดแดงเอออร์ตา (Aortic atherosclerotic tissue)

        ซึ่งการอักเสบเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแข็งตัว (Atherosclerosis) สัมพันธ์กับการศึกษาในมนุษย์ซึ่งเป็นกลุ่มทดลองที่มีสุขภาพดี พบว่าสารชักนำการอักเสบ เช่น Tumour necrosis factor-alpha (TNF-α), IL-1-beta, Thromboxane B5 และ Prostaglandin E5 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อได้รับอาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก (13.7 กรัมของกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิกจากเมล็ดแฟลกซ์)

        นอกจากนี้ค่าไขมันในเลือด (Lipid profile) เป็นปัจจัยเสี่ยงโดยตรงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือเกิดภาวะไขมันสะสมในเส้นเลือด (Atherogenic) โดยมีการศึกษาในกลุ่มผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง (Hypercholesterolemic subjects) มีการทานอาหารที่มีพลังงานจากไขมัน 36 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง 70 เปอร์เซ็นต์มาจากน้ำมันแฟลกซ์ พบว่าหลังจากบริโภค 28 วัน ค่าคลอเลสเตอรอล ทั้ง Total cholesterol, Low-density lipoprotein (LDL-cholesterol) ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีการบริโภคอาหารแบบตะวันตก (Western diet) ซึ่งสัมพันธ์การศึกษาในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือนที่มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ การทานเมล็ดแฟลกซ์ 30 กรัมต่อวัน ทำให้ค่า Total cholesterol และ LDL-cholesterol ลดลงประมาณ 7 และ 10 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

     1.2 นรีเวชศาสตร์ (Gynecology)

          เมล็ดแฟลกซ์ 100 กรัม ประกอบด้วย ลิกแนน (Lignans) 1.8 กรัม (Vaisey-Genser and Morris, 1997) ลิกแนนจัดเป็นไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) มีส่วนโครงสร้างบางส่วนคล้ายกับเอสตราดิออล(Estradiol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือฮอร์โมนเพศหญิงที่ร่างกายผลิตขึ้นเอง จึงมีการศึกษาฤทธิ์ในการบรรเทาอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ (Vasomotor symptoms) ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน การศึกษาพบว่าสามารถบรรเทาความรุนแรงและระยะเวลาของอาการร้อนวูบวาบ (Hot flashes), เหงื่อออกตอนกลางคืน (Night sweat) และปัญหาด้านการนอนหลับ (Sleep disturbance) นอกจากนี้ยังสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม (Breast cancer) ได้

          นอกจากนี้ในผู้หญิงที่มีภาวะ PMS หรือ Premenstrual Syndrome ซึ่งกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติทางร่างกายและทางจิตใจในช่วงระยะเวลาก่อนจะมีประจำเดือนประมาณ 1 สัปดาห์ เช่น อาการเจ็บคัดตึงเต้านม ท้องอืด ปวดท้อง ปวดหัว น้ำหนักขึ้น หิวบ่อย ท้องเสีย หรือท้องผูก ส่วนในทางสภาพจิตใจ มักมีอาการกระวนกระวาย อารมณ์แปรปรวน ร้องไห้ง่าย โกรธง่าย เป็นต้น การศึกษาพบว่าการทานเมล็ดแฟลกซ์สามารถช่วยบรรเทาอาการของ PMS ได้ (Mirghafourvand et al., 2016)

1.3 ระบบประสาท

          น้ำมันแฟลกซ์อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3 (ω-3 fatty acid) ซึ่งมีกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก  53.3 กรัม ต่อ 100 กรัมของน้ำมันแฟลกซ์ ซึ่งมนุษย์จะสามารถเปลี่ยน ALA เป็นกรดไขมันดีเอชเอ (Docosahexaenoic acid; DHA) ได้ 8-21 เปอร์เซ็นต์ และกรดไขมันอีพีเอ (Eicosapentaenoic Acid; EPA) ได้ 1-9 เปอร์เซ็นต์ ซี่งกรดไขมันทั้งสองชนิดนี้มีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างและการทำงานของสมอง และระบบประสาทเกี่ยวกับการพัฒนาเรียนรู้ โดยพบว่าน้ำมันแฟลกซ์แพร่ผ่านจากน้ำเหลืองหรือพลาสมา (Plasma) เข้าสู่สมอง ส่งผลให้ BDNF (Brain-derived neurotrophic factor) เพิ่มขึ้น ซึ่ง BDNF เป็นโปรตีนที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเพิ่มเซลล์สมอง กระบวนการฟื้นฟูสมอง และมีฤทธิ์ต้านอารมณ์เศร้า (Anti-depressant activity) อันเป็นผลเนื่องมาจากการเสริมฤทธิ์กับกลไกการทำงานของเซโรโทนิน (Serotonin), นอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) หรือ โดปามีน (Dopamine)

 

2. การรับประทาน

          น้ำมันแฟลกซ์พบในรูปแบบของเหลวบรรจุขวดและแคปซูล โดยขนาดรับประทานเริ่มต้นต่อวันของน้ำมันแฟลกซ์ในรูปแบบของเหลว 15 มิลลิลิตร (1 ช้อนโต๊ะ) ให้ ALA 7 กรัม ในขณะที่รูปแบบแคปซูลน้ำมันแฟลกซ์ 1,000 มิลลิกรัม ให้ ALA 500 มิลลิกรัม (แคปซูลน้ำมันแฟลกซ์แนะนำทานในขนาด 720-1,650 มิลลิกรัมต่อวัน) สามารถทานเวลาใดก็ได้ ก่อนหรือหลังอาหาร หรือกรณีเป็นของเหลวสามารถผสมและทานพร้อมมื้ออาหารได้ โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration; FDA) พิจารณาการใช้เมล็ดแฟลกซ์และน้ำมันแฟลกซ์ได้อย่างปลอดภัยในระยะเวลา 4 เดือน

3. อันตรกิริยาระหว่างยาและเมล็ดแฟลกซ์ที่อาจเกิดขึ้น

          แนะนำให้ทานน้ำมันแฟลกซ์ห่างจากยาอื่น 1-2 ชั่วโมง เนื่องจากเมล็ดแฟลกซ์อาจลดการดูดซึมยาอื่น

          3.1 ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) และยาต้านเกล็ดเลือด (Anti-platelet drugs) รวมถึงสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ส่งผลกับการลดการแข็งตัวของเลือด ควรระวังการทานกับน้ำมันแฟลกซ์ เนื่องจากมีฤทธิ์ลดการแข็งตัวของเลือดเช่นกัน การทำร่วมกันอาจส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติ (Bleeding)

          3.2 ยา สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต เนื่องจากน้ำมันแฟลกซ์มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต จึงทำให้เกิดภาวะความดันเลือดต่ำได้

          3.3 ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด หรือยาสำหรับรักษาโรคเบาหวาน (Diabetes drugs) เนื่องจากเมล็ดแฟลกซ์มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดเช่นกัน การทานร่วมกับยา สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีฤทธิ์เดียวกันทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

          ไม่แนะนำการทานเมล็ดแฟลกซ์และน้ำมันแฟลกซ์ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจากยังมีการศึกษาไม่เพียงพอ โดยน้ำมันแฟลกซ์อาจส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด (Premature birth) เมื่อบริโภคในขณะตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3

4. ผลข้างเคียงจากการทานน้ำมันแฟลกซ์

          ผู้บริโภคเมล็ดแฟลกซ์และน้ำมันแฟลกซ์สามารถทนต่อผลข้างเคียงได้ดี พบการรายงานผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยรายงานส่วนใหญ่พบการแพ้เมล็ดแฟลกซ์ ผื่นขึ้นที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า ผื่นลมพิษ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น

 

 

 

เรียบเรียงโดย

ภญ.ชุติภรณ์ คำบัว

เอกสารอ้างอิง

1. Anderson LA., et al. Flax. [อินเทอร์เน็ต]. 2565. [เข้าถึงเมื่อ 8 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก https://www.drugs.com/npp/flax.html#fandc-np5131.b82

2. Bloedon LT, & Szapary PO. Flaxseed and cardiovascular risk. Nutrition Reviews, 2004, 62, 18–27

3. Caughey GE, Mantzioris E, Gibson RA, Cleland LG, James MJ. The effect on human tumor necrosis factor alpha and interleukin 1 beta production of diets enriched in n-3 fatty acids from vegetable oil or fish oil. Am J Clin Nutr 1996;63:116-22.

4. Chandola HM., and Ila Tanna. Role of omega-3 fatty acids in brain and neurological health with special reference to clinical depression. Omega-3 fatty acids in brain and neurological health. Academic Press, 2014. 163-179.

5. de Lorgeril M, Salen P, Martin JL, Monjaud I, Delaye J, Mamelle N. Mediterranean diet, traditional risk factors, and the rate of cardiovascular complications after myocardial infarction: Final report of the Lyon Diet Heart Study. Circulation 1999;99:779-85.

6. Désirée L. Cases in CAM: What's the Good of Flaxseed?: Commentary [อินเทอร์เน็ต]. 2551. [เข้าถึงเมื่อ 8 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก https://www.medscape.org/viewarticle/577044_2

7. Duran D. The Pharmacological Evaluation of Flax Seed Oil. Journal of Current Medical Research and Opinion, 2020, 3.05: 459–464.

8. Gillingham LG., et al. High-oleic rapeseed (canola) and flaxseed oils modulate serum lipids and inflammatory biomarkers in hypercholesterolaemic subjects. British Journal of Nutrition, 2011, 105.3: 417-427.

9. Ibrugger S., et al. Flaxseed dietary fiber supplements for suppression of appetite and food intake. Appetite, 2012, 58.2: 490-495.

10. Kristensen M., et al. Flaxseed dietary fibers suppress postprandial lipemia and appetite sensation in young men. Nutrition, Metabolism and Cardiovascular Diseases, 2013, 23.2: 136-143.

11. Mayo clinic staff. Flaxseed and flaxseed oil [อินเทอร์เน็ต]. 2551. [เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก 
https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements-flaxseed-and-flaxseed-oil/art-20366457
.

12. Rodriguez-Leyva D, et al. The cardiovascular effects of flaxseed and its omega-3 fatty acid, alpha-linolenic acid. Canadian Journal of Cardiology, 2010, 26.9: 489-496.

13. Singh KK., et al. Flaxseed: a potential source of food, feed and fiber. Critical reviews in food science and nutrition, 2011, 51.3: 210-222.

14. Sourinejad H, et al. The use of flaxseed in gynecology: a review article. Journal of Midwifery and Reproductive Health, 2019, 7.2: 1691-1711.

15. Struijs K. The lignan macromolecule from flaxseed: structure and bioconversion of lignans. Wageningen University and Research, 2008.

16. University of Montreal. Pregnant Women Consuming Flaxseed Oil Have High Risk Of Premature Birth [อินเทอร์เน็ต]. 2551. [เข้าถึงเมื่อ 8 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก 
http://www.sciencedaily.com/releases/2008/10/081027140817.htm.

17. Vaisey-Genser M and Morris DH. Flaxseed: health, nutrition and functionality. Winnipeg, MB: Flax Council of Canada, 1997.

 

 

 

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.