หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > โรคกุ้งยิงหรือตากุ้งยิง (Hordeolum)
โรคกุ้งยิงหรือตากุ้งยิง (Hordeolum)
โรคกุ้งยิงหรือตากุ้งยิง (Hordeolum)
30 Jan, 2023 / By salacrm01
Images/Blog/Rmccke6B-กุ้ง.jpg

โรคกุ้งยิงหรือตากุ้งยิง (Hordeolum)

          โรคกุ้งยิงหรือที่มักเรียกกันว่าตากุ้งยิง เป็นภาวะที่เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันบริเวณขอบเปลือกตา ตากุ้งยิงมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มสแตปฟีโลคอคคัส (Staphylococcus) ทำให้มีอาการปวด บวม แดง มีลักษณะเป็นตุ่มนูนมีหนองคล้ายตุ่มสิวอยู่ที่บริเวณเปลือกตา1 หากตุ่มหนองนั้นเกิดที่ขอบของเปลือกตาจะเรียกว่า ตากุ้งยิงแบบภายนอก (External hordeolum) แต่หากตุ่มหนองนั้นเกิดภายใต้เปลือกตาจะเรียกว่าตากุ้งยิงแบบภายใน (Internal hordeolum)2 โดยปกติแล้วตากุ้งยิงสามารถหายได้เองภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ทำการรักษาด้วยการประคบอุ่น อาจมีการใช้ยาปฏิชีวนะแบบเฉพาะที่หรือการผ่าตัดเพื่อเอาหนองออกไปแล้วแต่กรณี

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดตากุ้งยิง

  • การใส่คอนแทคเลนส์
  • การไม่รักษาความสะอาดหรือใช้มือไม่สะอาดสัมผัสดวงตา
  • การใช้เครื่องสำอางที่เก่าแล้วหรือไม่สะอาดหรือล้างเครื่องสำอางออกไม่หมด
  • มีประวัติเคยเป็นตากุ้งยิง
  • การอักเสบหรือการติดเชื้อแบคทีเรียที่เปลือกตา
  • โรคบางชนิด เช่น โรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย (Rosacea) โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) หรือ โรคเบาหวาน (Diabetes)

 

อาการของตากุ้งยิง

  • เปลือกตาบวม แดง เจ็บ ตึง
  • รู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในตา
  • น้ำตาไหลเยอะ
  • ตาไม่สู้แสง
  • มีสะเก็ดหรือขี้ตาเป็นคราบติดอยู่ที่ขนตา

 

การรักษาตากุ้งยิง

1.การรักษาแบบไม่ใช้ยา (Non pharmacological treatment) 

โดยปกติแล้วตากุ้งยิงสามารถหายเองได้ในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ และเราสามารถใช้วิธีการเหล่านี้เพื่อดูแลรักษาตัวเองที่บ้านได้

  • ประคบอุ่น: ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นบิดให้หมาดแล้วประคบที่เปลือกตาเป็นเวลา 5-10 นาที วันละ 3-5 ครั้ง
  • ล้างมือบ่อย ๆ
  • ล้างทำความสะอาดหน้าทุกวัน โดยเฉพาะส่วนของดวงตา สามารถใช้สำลีชุบน้ำเกลือหรือแชมพูเด็กเพื่อทำความสะอาดเปลือกตาได้
  • ไม่สัมผัสบริเวณที่เป็นตากุ้งยิง
  • ไม่พยายามบีบหนองออก
  • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า และการใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าตากุ้งยิงจะหายไป

 

2.การรักษาโดยการใช้ยา (Pharmacological treatment)

          สามารถพิจารณาการใช้ยาปฏิชีวนะรูปแบบยาหยอดตาหรือขี้ผึ้งป้ายตาได้ หากพบขี้ตาเป็นหนองสีเขียวเหลือง เช่น

  • Polymyxin B/gramicidin/neomycin หยอดตา วันละ 4 เวลา
  • Polymyxin B/oxytetracycline ป้ายตาวันละ 4 ครั้ง (ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 8 ปี)
  • Chloramphenicol หยอดตา/ป้ายตา วันละ 4 เวลา

           หากมีอาการร่วมอื่น ๆ ของระบบร่างกาย เช่น มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวมโตกดเจ็บ หรือมีการกลับมาเป็นซ้ำบ่อย ๆ สามารถพิจารณาการใช้ยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน ยกตัวอย่างเช่น

  • Dicloxacillin 250-500 mg รับประทานวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 5-7 วัน
  • กรณีแพ้ยากลุ่ม Penicillins อาจเลือกใช้ยา Clindamycin 300 mg รับประทานวันละ 3-4 ครั้ง เป็นเวลา 5-7 วัน

           นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยการผ่าตัด (Incision and Curettage) ในกรณีที่อาการยังไม่ดีขึ้นหรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา อย่างไรก็ตามเราไม่ควรที่จะพยายามบีบหรือบ่งหนองออกด้วยตนเอง เนื่องจากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนจากอุปกรณ์หรือวิธีการที่ไม่ถูกต้องหรือไม่สะอาด

การป้องกันตากุ้งยิง

  • รักษาความสะอาดบริเวณรอบดวงตาโดยเฉพาะเปลือกตาและขนตา (Lid scrub) อาจใช้แผ่นทำความสะอาดเปลือกตาเช็ดบริเวณขอบตา หัวตา และหางตาจากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือใช้โฟมทำความสะอาดเปลือกตาลูบวนที่ขอบตาและโคนขนตาแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด โดยสามารถทำเป็นประจำได้ได้ทุกวัน
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสบริเวณรอบดวงตา
  • ไม่ใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น
  • ควรเปลี่ยนเครื่องสำอางทุก 3 เดือน
  • หมั่นรักษาความสะอาดของคอนแทคเลนส์และไม่สวมใส่คอนแทคเลนส์นานจนเกินไป (ไม่ควรเกิน 8-10 ชม./วัน)

 

เรียบเรียงโดย

ภญ.กรกนก กิจธรบัญชา

อ้างอิง

1.Hordeolum (Stye) [Internet]. AOA.org. American Optometric Association; [cited 2023Jan9]. Available from: https://www.aoa.org/healthy-eyes/eye-and-vision-conditions/hordeolum?sso=y

2.เลขานนท์ เกวลิน. ตากุ้งยิง เกิดจาก ? [Internet]. รามา แชนแนล. [cited 2023Jan11]. Available from: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/infographic/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B8%87-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81/

3.Bragg KJ. Hordeolum - StatPearls - NCBI Bookshelf [Internet]. National Library of Medicine. [cited 2023Jan11]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK441985/ 

4.ธีระพงษ์ ศรีศิลป์. Short note โรคในร้านยา วิตามิน และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร. เล่ม 4. ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา; 2561.

5.จงมั่นคงชีพ เลิศฤทธิ์. ตาแดงชนิดอันตรายน้อย (Low Risk Group Red Eye) [Internet]. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. [cited 2023Jan11]. Available from: https://www.rama.mahidol.ac.th/eye/sites/default/files/public/presentation/REDEYE%28RISK%29.doc

6.Hordeolum (Stye) [Internet]. Hordeolum (Stye) | Johns Hopkins Medicine. 2019 [cited 2023Jan9]. Available from: https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/hordeolum-stye

7.การใช้งานคอนแทคเลนส์ [Internet]. การใช้งานคอนแทคเลนส์ | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. [cited 2023Jan10]. Available from: https://www.rama.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/10192020-1103

8.Ocusoft lid scrub fanpage [Internet]. Facebook. [cited 2023Jan22]. Available from: https://www.facebook.com/OCuSOFTThailand

 

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.