หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > โรคที่ควรระวังเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน
โรคที่ควรระวังเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน
โรคที่ควรระวังเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน
13 Aug, 2021 / By salacrm01
Images/Blog/FWjpXRbx-ฤดูฝน.jpg

โรคที่ควรระวังเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน

   ฤดูฝนก็เป็นอีกหนึ่งฤดูที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่าง ที่มาพร้อมกับสภาพอากาศและความชื้นที่เปลี่ยนไป นำมาซึ่งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียบางชนิดที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งทุกคนควรระมัดระวังและดูแลสุขภาพของตัวเองให้ห่างจากโรคดังกล่าว สำหรับโรคที่มักมากับหน้าฝนที่ควรระวังมีดังนี้

1.ไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus: เกิดจากเชื้อไวรัส สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่พบบ่อยในคนคือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอชนิด H1N1 และ H3N2 และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี

      การติดต่อ: ทางการหายใจ เชื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด โดยเชื้อจะเข้าทางจมูกและปาก นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจเกิดจากมือที่สัมผัสกับพื้นผิว ของใช้ส่วนตัว หรือของใช้ เช่น ลูกบิด ปุ่มกดลิฟท์ ราวบันได ราวจับรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น

2.ไข้หวัด (Common cold) : อาจเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ เชื้อที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยทุกอายุ คือ Rhinovirus ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด รองลงมา ได้แก่ Coronavirus, Parainfluenza virus เป็นต้น

      โรคหวัดมักพบในฤดูกาลที่มีอากาศเย็น เช่น ฤดูฝน และฤดูหนาว   เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยการอยู่ใกล้ชิดกัน จึงพบเป็นกันมากตามโรงเรียน โรงงาน และในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ในคนบางคนอาจเป็นโรคนี้ได้ปีละหลาย ๆ ครั้ง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

       การติดต่อ: เป็นเชื้อที่มีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย สามารถติดต่อกันได้โดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด ภายในระยะไม่เกิน 1 เมตรซึ่งจัดว่าเป็นการแพร่กระจายทางละอองเสมหะที่มีขนาดใหญ่ (Droplet transmission) นอกจากนี้ เชื้อหวัดยังอาจติดต่อกันได้โดยการสัมผัส กล่าวคือ เชื้อหวัดอาจติดอยู่ที่มือของผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ (เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ หนังสือ ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ ของเล่นต่าง ๆ เป็นต้น) 

3.ไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever): โรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากไวรัสเดงกี่ ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ ซึ่งแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วในฤดูฝนซึ่งโรคนี้อันตรายถึงชีวิตถ้าได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที

       การติดต่อ: ติดต่อกันได้โดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นแมลงนำโรคที่สำคัญ และในชนบทบางพื้นที่ จะมียุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นแมลงนำโรคร่วมกับยุงลายบ้าน เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้  ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นป่วยได้

สำหรับการป้องกันง่าย ๆ โดยยึดหลัก 3 เก็บ

  1. เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายอยู่อาศัย
  2. เก็บขยะให้เกลี้ยงให้ยุงลายเพาะพันธุ์
  3. เก็บปิดน้ำให้มิดชิดใหม่ให้ยุงลายวางไข่ และอย่าปล่อยให้ยุงลายกัด

4.โรคฉี่หนู (Leptospirosis): เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สามารถติดโรคได้ในสัตว์หลายชนิดโดยเชื้อจะออกมากับฉี่ของสัตว์ เช่นสุนัข หนู โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สัตว์เลี้ยงในบ้าน เป็นต้น แต่พบมากใน หนู ซึ่งเป็นแหล่งรังโรค ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคฉี่หนูได้แก่ ผู้ที่ลุยน้ำหรือแช่น้ำนาน ๆ ผู้ที่เดินลุยน้ำท่วม คนงานในบ่อ

       การติดต่อ: ติดต่อทางบาดแผลและมีน้ำเป็นตัวพาหะ จึงไม่ควรเดินในน้ำขัง โดยเฉพาะในคนที่มีบาดแผล โดยเฉพาะเยื่อบุอ่อน เช่น ง่ามมือ ง่ามเท้า เยื่อบุตา

       โรคนี้ไม่สามารถหายได้เอง ต้องรีบพบแพทย์ หากไม่รีบรักษา บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือด หรือ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตได้

จัดทำโดย

ภก.ภิเษก ระดี

อ้างอิง

1.กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. หน้าฝนอย่าวางใจ! ยุงลาย พาหะร้าย โรคไข้เลือดออก[อินเตอร์เน็ต]. 2020. [เข้าถึงเมื่อ 11 มิถุนายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.thaihealth.or.th/sook/info-body-detail.php?id=194

2.ดวงสมร ส่งเมือง. โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส[อินเตอร์เน็ต]. 2021. [เข้าถึงเมื่อ 11 มิถุนายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.sikarin.com/content/detail/198/โรคฉี่หนู

3.ธเนศ แก่นสาร. 7 โรคที่มักเกิดในช่วงฤดูฝน[อินเตอร์เน็ต]. 2017.  [เข้าถึงเมื่อ 11 มิถุนายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/gallery/7-โรคที่มักเกิดในช่วงฤดู/

4.วนัทปรียา พงษ์สามารถ. ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่[อินเตอร์เน็ต]. 2019. [เข้าถึงเมื่อ 11 มิถุนายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20161218145555.pdf

 

เพิ่มเพื่อน

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.