หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > DASH Diet แนวทางอาหารต้านความดันโลหิตสูง
DASH Diet แนวทางอาหารต้านความดันโลหิตสูง
DASH Diet แนวทางอาหารต้านความดันโลหิตสูง
18 Mar, 2023 / By salacrm01
Images/Blog/FVA0Dc2D-(Varicose-Vein).jpg

DASH Diet แนวทางอาหารต้านความดันโลหิตสูง

         DASH Diet มาจาก Dietary Approach to Stop Hypertension Diet เป็นแนวทางการรับประทานอาหารเพื่อการดูแลสุขภาพในระยะยาว ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อรักษาหรือป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงที่เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ ธัญพืช ถั่วเปลือกแข็งและต้องควบคุมพลังงานให้ไม่เกิน 2000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน 

         รายงานการวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกายืนยันว่า DASH Diet สามารถลดความดันโลหิตได้จริง โดยค่าความดันโลหิตตัวบน (Systolic pressure) ลดลงได้ถึง 3.5 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) และค่าความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic pressure) ลดลงถึง 2.1 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) ในกลุ่มคนที่มีความดันโลหิตปกติ ส่วนคนที่อยู่ในกลุ่มความดันโลหิตสูง ค่าความดันโลหิตตัวบนสามารถลดลงได้ถึง 11.4 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันโลหิตตัวล่างลดลง 5.5 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับการใช้ยารักษา 

DASH Diet ช่วยลดความดันโลหิตได้ เนื่องมาจาก

1.มีเกลือโซเดียมต่ำ ซึ่งโซเดียมมีบทบาทในการควบคุมอัตราการถ่ายเทของน้ำในเซลล์ เมื่อรับประทานเกลือโซเดียมน้อย ทำให้การดึงน้ำเข้ามาในหลอดเลือดน้อยลง

2.มีโพแทสเซียมสูง ซึ่งเป็นตัวช่วยดึงน้ำไว้ในเซลล์ ทำให้ร่างกายขับเกลือโซเดียมและน้ำนอกเซลล์ออกจากร่างกาย ป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูง

3.มีแมกนีเซียมสูง ซึ่งแมกนีเซียมช่วยรักษาระดับแคลเซียมและโพแทสเซียมภายในเซลล์ และมีฤทธิ์เป็น Calcium channel blocker ทำให้เส้นเลือดขยายตัว ช่วยลดความดันโลหิตได้

4.มีแคลเซียมสูง ซึ่งจะช่วยควบคุมการทำงานของหลอดเลือด กล้ามเนื้อลายและกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวได้ดี หัวใจและหลอดเลือดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5.มีการจำกัดน้ำตาล ซึ่งการรับประทานน้ำตาลที่มากเกินไปอาจทำให้ไขมันในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดตีบและความดันโลหิตสูง

หลักการรับประทานอาหารแบบ DASH Diet

  1. อาหารที่ต้องเพิ่มการรับประทาน

ชนิดของอาหาร

ตัวอย่าง

ผัก

คะน้า กวางตุ้ง บัวบก ชะอม ชะพลู แครอท เห็ด หัวหอม มะเขือเทศ หัวปลี หน่อไม้ฝรั่ง ผักบุ้ง ผักชี ถั่วพู กะหล่ำปลี พริก แตงกวา บวบ ผักโขม ผักกาดขาว

ผลไม้

กล้วย ฝรั่ง องุ่น แก้วมังกร ชมพู่ มะละกอ ส้ม สัปปะรด แตงโม แอปเปิล      อะโวกาโด

ธัญพืช

ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโพด ลูกเดือย ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์

อาหารที่มีแคลเซียมสูง

ผลิตภัณฑ์นมพร่องมันเนย โยเกิร์ต เต้าหู้ งาดำ ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งฝอย

เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ

เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อเป็ด

ถั่วและเมล็ดพืช

ถั่วลิสง อัลมอนด์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ แมคคาเดเมีย เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง

ไขมันดี

น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดฟักทอง น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันงา น้ำมันรำข้าว

 

  1. อาหารที่ต้องลดการรับประทาน

ชนิดอาหาร

ตัวอย่าง

ผลิตภัณฑ์แปรรูปและอาหารกระป๋อง

ปลากระป๋อง ผักกาดดอง ไส้กรอก กุนเชียง หมูยอ แหนม ปลาส้ม ปลาร้า ปลาเค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ชีส แฮม มาการีน นมข้นหวาน ซอสมะเขือเทศ

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เหล้า เบียร์ ไวน์ วิสกี้ สาเกญี่ปุ่น  

เนื้อแดง

เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแพะ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน

ไขมันอิ่มตัว

น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กะทิ ไขมันจากสัตว์ เนื้อติดมัน ชีส

ไขมันทรานส์

ครีมเทียม เนยเทียม

อาหารรสหวาน

น้ำอัดลม ลูกอม เค้ก ขนมหวาน ไอศกรีม 

แนวทางการวางแผน DASH Diet ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

1.ประเมินภาวะโภชนาการและคำนวณดัชนีมวลกาย

ดัชนีมวลกาย (BMI) =           น้ำหนัก (กิโลกรัม)

                                   ส่วนสูง (เมตร) x ส่วนสูง (เมตร)   

 

2.ประเมินพลังงานขั้นพื้นฐานที่ร่างกายต้องการ (Basal metabolic rate: BMR) และประเมินพลังงานที่ร่างกายต้องการทั้งหมดต่อวัน (Total Daily Energy Expenditure: TDEE)

BMR คือ อัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ขณะพักผ่อน เมื่อร่างกายอยู่นิ่ง ไม่มีกิจกรรมอื่น ๆ

สูตรคำนวณ BMR ของ The Mifflin St Jeor Equation

BMR เพศชาย = [(10 x kg) + (6.25 x cm) – (5 x year) + 5]

BMR เพศหญิง = [(10 x kg) + (6.25 x cm) – (5 x year) - 161]

TDEE คือ ค่าพลังงานที่ร่างกายต้องการในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน

สูตรคำนวณ TDEE

TDEE = BMR x ตัวแปรการออกกำลังกาย

ค่าตัวแปร

การออกกำลังกาย

1.2

สภาวะพัก นั่งทำงานอยู่กับที่และไม่ได้ออกกำลังกาย

1.375

ออกกำลังกายระดับเล็กน้อย (1-3 วันต่อสัปดาห์)

1.55

ออกกำลังกายระดับปานกลาง (4-5 วันต่อสัปดาห์)

1.725

ออกกำลังกายอย่างหนัก (6-7 วันต่อสัปดาห์)

1.9

ออกกำลังกายอย่างหนัก (ทุกวันเช้า-เย็น)

 

3.วางแผนการรับประทานอาหาร DASH Diet ให้เหมาะสมกับตัวเอง  

  • ต้องการเพิ่มน้ำหนัก: ควรรับประทานอาหารให้มากกว่า TDEE  
  • ต้องการคงน้ำหนัก: ควรรับประทานอาหารให้เท่ากับ TDEE  
  • ต้องการลดน้ำหนัก: ควรรับประทานอาหารให้น้อยกว่า TDEE แต่ไม่น้อยกว่า BMR

สัดส่วนอาหาร 8 หมวดของ DASH Diet สำหรับความต้องการพลังงาน 2000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน 

หมวดอาหาร

ปริมาณอาหารที่ต้องรับประทาน

ตัวอย่างอาหาร 1 ส่วน

ข้าว/ธัญพืช

6-8 ส่วนต่อวัน

ข้าวกล้อง 1 ทัพพี

ข้าวเหนียว ครึ่ง ทัพพี

ผัก

4-5 ส่วนต่อวัน

ผักสด 2 ทัพพี

น้ำผัก 120 มิลลิลิตร

ผลไม้

4-5 ส่วนต่อวัน

ส้ม 1 ผล

ฝรั่ง ครึ่ง ลูก

มะละกอ 6-10 ชิ้นพอดีคำ

ผลิตภัณฑ์นมแคลเซียมสูง

2-3 ส่วนต่อวัน

นมพร่องมันเนย 200-240 มิลลิลิตร

โยเกิร์ต 1 ถ้วย

เต้าหู้ ครึ่ง แผ่น

งาดำ 1 ช้อนโต๊ะ

เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน

6 ส่วนต่อวัน

เนื้อไก่หรือเนื้อเป็ดหรือเนื้อปลา 100 กรัม

ไข่ไก่ 1 ฟอง

ถั่ว/เมล็ด

5 ส่วนต่อสัปดาห์

ถั่วเมล็ดแห้งสุก ครึ่ง ถ้วย

เมล็ดพืช 2 ช้อนโต๊ะ

ถั่วลันตา ครึ่ง ถ้วย

น้ำมัน

2-3 ส่วนต่อวัน

น้ำมันพืช 1 ช้อนชา

น้ำตาล

2-3 ส่วนต่อวัน

น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ

   

​​​​​​​

เรียบเรียงโดย

ภญ.ธัญชนก เงินคำมูล

เอกสารอ้างอิง

1. ชนาธิป สันติวงศ์. DASH Diet: อาหารต้านความดันโลหิตสูง [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 8 ก.ย. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/RHPC9Journal/article/view/254275

2. Appel LJ, Moore TJ, Obarzanek E, et al. A Clinical Trial of the Effects of Dietary Patterns on Blood Pressure. New England Journal of Medicine 1997; 336:1117-1124

3. US Department of Health & Human Services, Public Health Service, National Institutes of Health, National Heart, Lung, and Blood Institute. Your guide to lowering your blood pressure with DASH. NIH Publication No. 06-4082, Bethesda, MD, 2006.

 

 

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.