Oxygen therapy
Oxygen therapy
25 Jan, 2023 / By salacrm01
Images/Blog/G139dHcy-oxy.jpg

Oxygen therapy

      ออกซิเจนบำบัด (Oxygen Therapy) เป็นวิธีที่ใช้เพิ่มปริมาณออกซิเจนในร่างกาย สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจพบว่า มีออกซิเจนในร่างกายไม่เพียงพอ หรือมีภาวะขาดออกซิเจน (Hypoxia, Hypoxemia) เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว โรคปอดบวม โรคมะเร็งปอด ภาวะโลหิตจาง กลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ผู้ป่วยโรคโควิด-19 เป็นต้น โดยเป้าหมายของการบำบัดด้วยออกซิเจน คือ ต้องการให้ออกซิเจนไปที่เนื้อเยื่อมากขึ้น

       การวินิจฉัยภาวะขาดออกซิเจน ทำได้หลายวิธี ได้แก่

1.อาการและอาการแสดงซึ่งไม่มีความจำเพาะ เช่น หายใจเร็วขึ้น เหนื่อยหอบ หัวใจเต้นเร็ว สับสน เพ้อ หมดสติ เป็นต้น

2.วัดค่าจากเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Pulse oximeter) มีค่าต่ำกว่า 90% ของความอิ่มตัวสูงสุด  

3.ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ Hemoglobin, Arterial Blood Gas และ Blood lactate

ประเภทของออกซิเจนบำบัด มี 2 ประเภท ได้แก่

ประเภทของออกซิเจนบำบัด

ข้อดี

ข้อเสีย

1. ถังออกซิเจน (Oxygen Tanks) ใช้บรรจุออกซิเจนแรงดัน โดยมีท่อเชื่อมต่อกับถังที่ปลายด้านหนึ่งแล้วต่อสายออกซิเจนแบบผ่านจมูกหรือหน้ากากออกซิเจน ถังนี้จะส่งตรงออกซิเจนในถังเข้าสู่จมูกของผู้ป่วย

1. ความเข้มข้นของออกซิเจนสูงกว่าเครื่องผลิตออกซิเจน (ถังออกซิเจน; 99%, เครื่องผลิตออกซิเจน; 93%)

2. ใช้ได้แม้ไม่มีไฟฟ้า สามารถใช้งานได้ขณะเดินทางหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ดี

1. เสียเวลาในการเดินทางไปเติมก๊าซออกซิเจน

2. ในระยะยาวอาจเสียค่าใช้จ่ายในการเติมก๊าซออกซิเจนมากกว่าใช้เครื่องผลิตออกซิเจน

2. เครื่องผลิตออกซิเจน (Oxygen Concentrators) เครื่องผลิตออกซิเจนสามารถส่งออกซิเจนไปยังผู้ป่วยโดยตรงผ่านสายออกซิเจนแบบผ่านจมูกหรือหน้ากากออกซิเจน เครื่องนี้จะผลิตออกซิเจนโดยนำอากาศเข้าเครื่องแล้วทำให้ความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศเพิ่มขึ้น

1. ใช้งานง่าย เพียงแค่เสียบปลั๊ก

2. ประหยัดเวลา ไม่ต้องเติมก๊าซออกซิเจน

3. ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เนื่องจากซื้อครั้งเดียว ไม่ต้องเติมก๊าซออกซิเจน

1. ใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา

2. พกพาไม่ได้ เนื่องจากต้องใช้ไฟฟ้า

       

       ประโยชน์ของออกซิเจนบำบัด ออกซิเจนบำบัดเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะระดับออกซิเจนต่ำ
       ซึ่งจะช่วยลดอาการ และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยยืดอายุขัยให้กับผู้ป่วยได้
       นอกจากนี้ยังสามารถใช้ออกซิเจนบำบัดในผู้ที่เหน็ดเหนื่อยจากการเล่นกีฬา ผู้ที่อดนอน ผู้ที่อยู่ในแหล่งที่มีมลภาวะในอาการสูง อาศัยหรือเดินทางขึ้นที่สูง ผู้ที่ทำงานหนัก หรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการรับออกซิเจนบริสุทธิ์ เพื่อความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าได้เช่นเดียวกัน

       ผลข้างเคียงของออกซิเจนบำบัด ยังไม่มีการรายงานอาการข้างเคียงของการให้ออกซิเจนบำบัด แต่อาจพบภาวะแทรกซ้อนจากการให้ออกซิเจนบำบัดได้หากได้รับมากเกินไป ได้แก่

1. อาจทำให้เกิดภาวะ Hypoventilation ในผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรัง

2. เนื้อเยื่อปอดถูกทำลาย มักแสดงอาการไอ เจ็บหน้าอก อาการของภาวะ Pulmonary edema

       ข้อควรระวัง ก๊าซออกซิเจนเป็นปัจจัยสำคัญในการเผาไหม้ ดังนั้นผู้ใช้ควรระมัดระวัง ดังต่อไปนี้

1. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือระวังไม่ให้ผู้ใดสูบบุหรี่ในระหว่างที่กำลังใช้อุปกรณ์ให้ออกซิเจน

2. จัดวางอุปกรณ์ให้ออกซิเจนห่างจากไฟหรือแหล่งให้ความร้อน เช่น เตาแก๊ส อย่างน้อย 6 ฟุต

3. ไม่ใช้ของเหลวที่ติดไฟง่าย เช่น สารทำความสะอาด ยาพ่นที่เป็นละอองในอากาศ ระหว่างที่ใช้อุปกรณ์ให้ออกซิเจน

4. ควรจัดวางถังออกซิเจนให้ตั้งตรงเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

5. ควรเก็บอุปกรณ์ให้ออกซิเจนไว้ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

6. ควรเตรียมเครื่องดับเพลิงไว้ให้พร้อมใช้งาน

       การหยุดใช้ออกซิเจนบำบัด เมื่อผู้ป่วยมีอาการคงที่ ควรค่อย ๆ ลดความเข้มข้นของออกซิเจนที่ให้จนสามารถหยุดให้ออกซิเจนโดยค่า oxygen saturation อยู่ในช่วง 94 -98 %

 

เรียบเรียงโดย

ภญ.ปุญญิศา วัชระประหาส

เอกสารอ้างอิง

1.ณับผลิกา กองพลพรหม. ออกซิเจนบำบัด. [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 6 สิงหาคม 2565]. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย. เข้าถึงได้จาก: https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line

2.บ้านยาเวชภัณฑ์. หลักการให้ออกซิเจนกับผู้ป่วย [อินเทอร์เน็ต]. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 6 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://www.medi2you.com/oxygen-concentrator/

3.อรุโณทัย ศิริอัศวกุล. การบำบัดด้วยออกซิเจน (Oxygen therapy). [อินเทอร์เน็ต]. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 6 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: https:// www.si.mahidol.ac.th/anesth/undergrad

4.UpToDate. Oxygen: Drug information [homepage on the internet]. USA: Lexicomp, Inc;2022 [cited 2022 August 28]. Available from: https://www.uptodate.com/contents/oxygen-drug-information?search=oxygen%20therapy&source=panel_search_result&selectedTitle=1~150&usage_type=panel&kp_tab=drug_general&display_rank=1#F205128

5.พัชนี ภาษิตชาคริต. การบำบัดด้วยออกซิเจน (Oxygen therapy). [อินเทอร์เน็ต]. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 28 สิงหาคม 2565]. ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. เข้าถึงได้จาก:http://webcache.
googleusercontent.com/search?q=cache:1meND9d90gYJ:elearning-anesswu.com/anesdept/wp-content/

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.